สหรัฐได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) หลังจากเคยประกาศถอนตัวเมื่อเดือนมิ.ย. 2561
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ในการลงคะแนนเสียงที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN) สหรัฐได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก UNHRC ร่วมกับประเทศอื่นอีก 17 ประเทศ เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยจะเริ่มทำหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลสหรัฐภายใต้การบริหารของอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศถอนตัวจาก UNHRC เมื่อเดือนมิ.ย. 2561 โดยกล่าวหาว่า UNHRC เป็นองค์กรที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและเสแสร้ง รวมถึงมีอคติต่ออิสราเอล ทั้งนี้ ไอซ์แลนด์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกแทนสหรัฐ ภายหลังจากการเลือกตั้งใหม่
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สหรัฐประกาศเมื่อเดือนก.พ. 2564 ว่าจะกลับเข้าร่วมกับ UNHRC อีกครั้ง ในฐานะผู้สังเกตการณ์ก่อน นายแอนโทนี บลินเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า การถอนตัวของสหรัฐเมื่อปี 2561 ไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายใดๆ แต่ก่อให้เกิดสุญญากาศทางการเป็นผู้นำของสหรัฐ
รายงานระบุว่า ผลการลงคะแนนปรากฏว่า สหรัฐได้รับเสียงสนับสนุน 168 คะแนน จาก 193 คะแนน ส่วนฟินแลนด์และลักเซมเบิร์กได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเท่ากันที่ 180 คะแนน นอกจากนี้ จากทั้งหมด 17 ประเทศ สหรัฐได้รับคะแนนเสียงต่ำสุดเป็นอันดับ 2 รองจากเอริเทรีย ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนเพียง 144 คะแนน
ทั้งนี้ UNHRC เป็นหน่วยงานระหว่างรัฐบาลที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งมีสมาชิกทั้งหมด 47 ประเทศ และสมาชิก 1 ใน 3 จะถูกแทนที่ทุกปี เพื่อที่สมาชิกสภาจะดำรงตำแหน่งวาระ 3 ปีได้อย่างต่อเนื่อง