สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) แถลงว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่เป็นบุคคลภายนอก จะจัดการประชุมในวันที่ 30 พ.ย.เพื่อหารือกันว่าจะให้การอนุมัติสำหรับการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ (molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ในการรักษาโรคโควิด-19 ในสหรัฐเป็นกรณีฉุกเฉินหรือไม่
การดำเนินการของ FDA มีขึ้น หลังจากที่เมอร์คได้ยื่นเรื่องต่อ FDA เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเพื่อขออนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน
ทั้งนี้ คณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ดังกล่าวจะทำการพิจารณาว่ายาโมลนูพิราเวียร์มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์เป็นยาที่มีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยในการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางหรือไม่ ก่อนที่จะทำรายงานเสนอความเห็นแก่ FDA
หากคณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์เป็นกรณีฉุกเฉิน ก็จะเป็นการปูทางให้ FDA ทำการอนุมัติอย่างเป็นทางการต่อไป โดยที่ผ่านมา FDA มักมีมติสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาดังกล่าว แม้ว่าโดยหลักการแล้ว FDA ไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่ปรึกษา
หากได้รับการอนุมัติจาก FDA ยาโมลนูพิราเวียร์จะเป็นยาเม็ดรับประทานชนิดแรกในตลาดที่ได้รับการอนุมัติสำหรับการรักษาโรคโควิด-19 อย่างเป็นทางการ
ก่อนหน้านี้ FDA ให้การอนุมัติวัคซีนต้านโควิด-19 ของไฟเซอร์, โมเดอร์นา และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษา
ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดสำหรับรักษาโรคโควิด-19 ซึ่งเมอร์คระบุว่ามีประสิทธิภาพในการต้านไวรัสโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ซึ่งรวมถึงสายพันธุ์เดลตา และสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 50%
เมอร์คเปิดเผยว่า ผลการทดลองในระยะที่ 3 พบว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จำนวนเพียง 7.3% ที่ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ผู้ป่วยที่ได้รับยาหลอกจำนวน 14.1% ต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลภายในเวลา 29 วัน และมีผู้เสียชีวิตจำนวน 8 ราย
อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทดลองทั้งหมด 775 คนได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ที่แสดงอาการ และถูกสุ่มให้ยาโมลนูพิราเวียร์หรือยาหลอกภายในเวลา 5 วันหลังจากที่เริ่มมีอาการ
ผู้เข้าร่วมการทดลองทุกคนยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน และแต่ละคนมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดอาการรุนแรงจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และการมีอายุมากกว่า 60 ปี
เมอร์คได้ทำการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ในระยะที่ 3 ในสถานที่มากกว่า 170 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐ บราซิล กัวเตมาลา อิตาลี แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน
เนื่องจากยาโมลนูพิราเวียร์ไม่ได้เล็งเป้าหมายไปที่โปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแตกต่างจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วไป จึงทำให้ยาโมลนูพิราเวียร์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสโควิด-19 แม้ว่าจะมีการกลายพันธุ์ก็ตาม
ทั้งนี้ ยาโมลนูพิราเวียร์จะเล็งเป้าหมายไปที่ viral polymerase ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความจำเป็นต่อไวรัสโควิด-19 ในการคัดลอกตัวเองเพื่อแพร่กระจายออกไป โดยยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้รหัสพันธุกรรมของไวรัสเกิดความผิดพลาดจนไม่สามารถขยายจำนวนมากขึ้น
ผลการศึกษาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หากผู้ป่วยได้รับยาในช่วงแรกของการติดเชื้อ
เมอร์คทำการพัฒนายาโมลนูพิราเวียร์ร่วมกับบริษัทริดจ์แบ็ค ไบโอเทราพิวติกส์ โดยแบ่งเป็นการทดลองสำหรับยารักษา และยาป้องกันโรคโควิด-19