องค์การการค้าโลก (WTO) รายงานวานนี้ว่า การค้าสินค้าทั่วโลกเริ่มชะลอตัวลง หลังจากที่ดีดตัวขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 ในช่วงแรก ๆ โดยการชะลอตัวลงครั้งนี้ เป็นผลมาจากภาวะชะงักงันด้านการผลิตและอุปทาน รวมถึงความต้องการสินค้านำเข้าที่ลดลง
WTO ระบุว่า ดัชนีการค้าโลกเดือนพ.ย.ลดลงแตะระดับ 99.5 จุด ซึ่งใกล้เคียงกับค่าพื้นฐานที่ 100 จุด หลังพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 110.4 จุดเมื่อเดือนส.ค. นอกจากนี้ WTO ยังรายงานว่า ดัชนีการค้ารายการอื่น ๆ ก็ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยดัชนีที่ปรับตัวลงมากที่สุดได้แก่สินค้าประเภทยานยนต์ และมีเพียงดัชนีการขนส่งสินค้าทางอากาศเท่านั้นที่ยังรักษาระดับเหนือแนวโน้มโดยรวมได้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลของ WTO ระบุว่า ปัญหาฝั่งอุปทานที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการจราจรติดขัดที่ท่าเรืออันเนื่องมาจากความต้องการที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี หรือภาวะชะงักงันในการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น ยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ ต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้การค้าทั่วโลกชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้าก็ลดลงด้วยเช่นกัน โดยดูจากยอดการส่งออกที่ลดลง
"ความต้องการสินค้านำเข้าที่ลดลงอาจช่วยลดปัญหาจราจรติดขัดตามท่าเรือได้ แต่การขนส่งที่ยังคงคั่งค้างและปัญหาความล่าช้าตั้งแต่ก่อนหน้านี้น่าจะยังไม่หมดไป หากยอดการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ (Container throughput) ยังคงตัวอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์เช่นนี้" WTO ระบุ
ทั้งนี้ WTO เผยว่า ตัวเลขส่วนใหญ่นั้นตรงกับการคาดการณ์ที่ว่า ปริมาณการซื้อขายสินค้าจะเพิ่มขึ้น 10.8% ในปีนี้ ก่อนจะชะลอตัวลงจนขยายตัวเพียง 4.7% ในปี 2565 โดย WTO ระบุว่า การค้าทั่วโลกมีแนวโน้มว่าจะยังคงได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่อง จากความเสี่ยงที่ราคาสินค้าจะลดลง, ความไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภูมิภาค รวมถึงการค้าภาคบริการที่ยังคงอ่อนแอ