องค์กรสิทธิบัตรยาร่วม (MPP) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยในวันนี้ว่า MPP ได้บรรลุข้อตกลงด้านสิทธิบัตรยากับบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ โดยทางบริษัทจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญสามารถจำหน่ายยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 95 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ บริษัทที่ต้องการผลิตยาแพกซ์โลวิดสามารถยื่นเรื่องต่อ MPP เพื่อขอการอนุมัติ โดย MPP จะมอบช่วงสิทธิบัตรให้แก่บริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขภายในประเทศในการผลิตยาดังกล่าว
MPP คาดการณ์ว่ายาแพกซ์โลวิดจะเข้าถึง 95 ประเทศดังกล่าวภายในเวลาอีกไม่กี่เดือน
การบรรลุข้อตกลงระหว่าง MPP และบริษัทไฟเซอร์ในวันนี้มีขึ้น หลังจากที่ MPP ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ก่อนหน้านี้เช่นกันในการมอบสูตรการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาโรคโควิด-19 ให้แก่ 105 ประเทศทั่วโลก
ทั้งนี้ บริษัทเมอร์คและไฟเซอร์จะไม่เรียกเก็บค่าตอบแทนจากบริษัทที่ผลิตยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิด ตราบใดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังคงระบุว่าโรคโควิด-19 ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ
ไฟเซอร์เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% โดยสูงกว่ายาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งมีประสิทธิภาพเพียง 50%
ทั้งนี้ ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน
ส่วนผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาผู้ติดเชื้อ HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ขณะนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้การอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดเป็นกรณีฉุกเฉิน โดยคาดว่าจะให้การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ในช่วงต้นเดือนธ.ค. และจะให้การอนุมัติยาแพกซ์โลวิดหลังจากนั้น