สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวระบุว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) เตรียมอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค และยาแพกซ์โลวิดของบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ พร้อมกันในวันพรุ่งนี้ (22 ธ.ค.) ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นกรณีฉุกเฉิน
หาก FDA ให้การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดในวันพรุ่งนี้ตามคาด ก็จะเป็นการปลดล็อกให้มีการใช้ยาดังกล่าวทั่วโลก เนื่องจากหน่วยงานสาธารณสุขของหลายประเทศยังคงรอการรับรองจาก FDA ก่อนที่จะให้การอนุมัติการใช้ยาดังกล่าว
การอนุมัติยาโมลนูพิราเวียร์และยาแพกซ์โลวิดในครั้งนี้มีขึ้น ขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในสหรัฐ โดยคิดเป็นสัดส่วน 73% ของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาลดลงเหลือเพียง 27%
ทั้งนี้ มีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนใน 43 จาก 50 รัฐในสหรัฐ ขณะที่ไวรัสดังกล่าวได้แพร่ระบาดในกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
ไฟเซอร์ระบุว่า ยาแพกซ์โลวิดสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% รวมทั้งมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
ผู้ที่จะรับประทานยาของไฟเซอร์จะต้องรับทั้งยาแพกซ์โลวิด พร้อมกับยาริโทนาเวียร์ ซึ่งเป็นยาต้านไวรัส HIV โดยยา 1 คอร์สของไฟเซอร์ประกอบด้วยยาแพกซ์โลวิด 20 เม็ดและริโทนาเวียร์ 10 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาแพกซ์โลวิดขนาด 150 มิลลิกรัม 2 เม็ดต่อครั้ง คู่กับยาริโทนาเวียร์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ดต่อครั้ง วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน
ส่วนเมอร์คเปิดเผยว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ 30%
ยา 1 คอร์สของเมอร์คประกอบด้วยยาโมลนูพิราเวียร์ขนาด 200 มิลลิกรัม จำนวน 40 เม็ดสำหรับผู้ป่วย 1 คน โดยผู้ป่วยจะรับประทานยาวันละ 2 ครั้งๆละ 4 เม็ด เป็นเวลา 5 วัน