นอร์เวย์เผยจะไม่ใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ แม้มีการสั่งซื้อจากเมอร์ค

ข่าวต่างประเทศ Monday December 27, 2021 18:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบียอห์น กัลด์โวก รัฐมนตรีสาธารณสุขนอร์เวย์ กล่าวว่า ถึงแม้กระทรวงสาธารณสุขของนอร์เวย์ได้สั่งซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จำนวน 8,640 คอร์สจากบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค สำหรับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แต่นอร์เวย์ก็คงจะไม่มีการใช้ยาดังกล่าว

"เราไม่คิดว่ายาโมลนูพิราเวียร์จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้ยาดังกล่าว โดยเมอร์คได้รายงานผลการทดลองที่ให้ประสิทธิภาพสูงในช่วงแรก แต่ในการทดลองช่วงที่ 2 กลับพบว่ามีประสิทธิภาพลดลง" นายกัลด์โวกกล่าว

นอกจากนี้ นายกัลด์โวกยังระบุว่า นอร์เวย์มีการให้บริการสาธารณสุขเฉพาะทางอย่างมีประสิทธิภาพ การที่ผู้ป่วยโควิด-19 เลือกที่จะกินยาโมลนูพิราเวียร์จะทำให้ขาดโอกาสในการได้รับการวินิจฉัยโรคที่ดีกว่า เมื่อเทียบกับการเข้ารับบริการจากระบบสาธารณสุข

ขณะเดียวกัน สมาคมแพทย์สามัญแห่งเดนมาร์ก (DSAM) ออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเดนมาร์ก (NBH) ที่ได้อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ของบริษัทเมอร์ค แอนด์ โค ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19

ทั้งนี้ เดนมาร์กนับเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (EU) ที่ได้อนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขณะที่รัฐบาลได้สั่งซื้อยาดังกล่าวจำนวน 50,000 แคปซูล

DSAM ระบุว่า เมอร์คยังไม่ได้ให้เอกสารที่เพียงพอเกี่ยวกับผลการทดลองและประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยประสบความล่าช้าในการได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และมีความเสี่ยงที่อาการของโรคจะรุนแรงขึ้น

ส่วนแพทยสมาคมเดนมาร์ก (DMA) ก็ได้แสดงความกังวลต่อการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เช่นกัน

ด้านศาสตราจารย์ยาน เกอร์สตอฟท์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ กล่าวว่า การใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ดูเหมือนมีประสิทธิภาพสูงในการทดลองเบื้องต้น แต่ในการทดลองระยะต่อไปพบว่ามีประสิทธิภาพลดลง

ศาสตราจารย์เกอร์สตอฟท์ชี้ว่า ผลการทดลองยาโมลนูพิราเวียร์ให้ประสิทธิภาพสูงในอเมริกาใต้ แต่แทบไม่มีประสิทธิภาพเมื่อทดลองกับอาสาสมัครในยุโรปและสหรัฐ

นอกจากนี้ DMA ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเดนมาร์กพิจารณาทบทวนการตัดสินใจสั่งซื้อและอนุมัติการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์

ทั้งนี้ เมอร์คเปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์สามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้เพียง 30% โดยลดลงจากที่มีการเปิดเผยในช่วงแรกว่ายาดังกล่าวมีประสิทธิภาพ 50%

ทางด้านบริษัทไฟเซอร์ อิงค์ เปิดเผยว่า ผลการทดลองพบว่า ยาแพกซ์โลวิดของทางบริษัทสามารถลดความเสี่ยงของผู้ป่วยโควิด-19 ในการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ