สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgery หรือ ISAPS) เผยผลสำรวจประจำปีในด้านศัลยกรรมตกแต่งและเวชศาสตร์ความงาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีต่อการทำศัลยกรรมความงามทั่วโลกตลอดทั้งปี 2563
โดยในปี 2563 การผ่าตัดเสริมความงามปรับตัวลดลง 10.9% อันเนื่องมาจากศัลยแพทย์ 77.8% ทั่วโลกต้องปิดให้บริการเวชปฏิบัติชั่วคราวขณะโรคโควิด-19 แพร่ระบาด อย่างไรก็ตาม การเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการฉีดฟิลเลอร์และกำจัดขนยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็เพิ่มขึ้นน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2563 ขยายตัว 5.7% ขณะที่ปี 2562 เติบโตถึง 7.6% เมื่อคำนวณรวมกันแล้วพบว่า ในปี 2563 ยอดการเสริมความงามทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัดปรับตัวลดลง 1.8%
ดร. Arturo Ramirez-Montaana ประธานคณะกรรมการจัดทำแบบสำรวจของ ISAPS เปิดเผยว่า แนวโน้มขาลงนี้สอดคล้องกับผลการสำรวจของเรา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยมีความต้องการเสริมความงามลดลงเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและฐานะทางการเงินในช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ในขณะเดียวกัน แพทย์หลาย ๆ คนก็มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเพราะตัวลูกค้ามีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีโอกาสพักฟื้นตัวได้อย่างเป็นส่วนตัวมากขึ้น ทั้งยังเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่า 'ซูมเอฟเฟกต์' ด้วย ซึ่งพบมากเป็นพิเศษในการดูแลปรนนิบัติผิวหน้า" ทั้งนี้ มีศัลยแพทย์เพียง 45% ที่มีจำนวนลูกค้าดีดตัวขึ้นแตะระดับก่อนการแพร่ระบาด
"แม้เราเผชิญกับการแพร่ระบาดอันโหดร้าย แต่ก็ดูเหมือนกับว่าศัลยแพทย์ความงามส่วนใหญ่กำลังกลับมาให้บริการเวชปฏิบัติใกล้เคียงกับระดับปกติ และมั่นใจว่าปี 2564 จะเป็นไปในทางที่ดี ทั้งสำหรับแวดวงศัลยกรรมเสริมความงาม และการเสริมความงามทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด" ดร. Arturo Ramirez-Montaana กล่าว
สำหรับการผ่าตัดเสริมความงามที่พบมากที่สุดทั่วโลกยังคงเดิมในปี 2563 โดยมีผู้เข้ารับการเสริมหน้าอกคิดเป็นสัดส่วน 16% ของการผ่าตัดทั้งหมด ส่วน 15.1% เป็นการดูดไขมัน, 12.1% เป็นการผ่าตัดเปลือกตา, 8.4% เป็นการผ่าตัดเสริมจมูก และ 7.6% เป็นการทำหน้าท้อง
ส่วนการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 5 อันดับแรกก็ยังคงเหมือนกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ การฉีดโบท็อกซ์ (43.2%), กรดไฮยาลูโรนิก (28.1%), การกำจัดขน (12.8%), การลดไขมันโดยไม่ต้องผ่าตัด (3.9%) และเลเซอร์ฟื้นฟูสภาพผิว (3.6%) โดยการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดนั้นมีลูกค้าเป็นผู้หญิงประมาณ 85% จากทั้งหมด
แม้ตัวเลขการผ่าตัดเสริมความงามปรับตัวลดลง แต่การทำศัลยกรรมจมูกและผ่าตัดยกคิ้วยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่การฟื้นฟูผิวหน้าแบบไม่ผ่าตัดปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.9% หลังจากที่ปรับตัวลดลงในปี 2562 และ 2561
ในภาพรวมนั้น การเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดปรับตัวเพิ่มขึ้น ยกเว้นการฉีดโบท็อกซ์ กรดไฮยาลูโรนิก และเลเซอร์ฟื้นฟูสภาพผิว ซึ่งลดลง 0.9%, 6.1% และ 11.3% ตามลำดับ
ส่วนการผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในหมู่ผู้ชายยังคงเป็นการศัลยกรรมเปลือกตา การดูดไขมัน การผ่าตัดลดขนาดเต้านม ศัลยกรรมจมูก และผ่าตัดแก้หูกาง
เมื่อดูข้อมูลการเสริมความงามตามกลุ่มอายุแล้ว การเสริมจมูก (67.9%) ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในคนอายุ 19-34 ปี ขณะที่การฉีดโบท็อกซ์ได้รับความนิยมมากที่สุดในผู้ที่มีอายุ 35-50 ปี (50.2% ของทั้งหมด)
ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกามีการเสริมความงามเพิ่มขึ้นทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด ครองตำแหน่งประเทศที่มีผู้เข้ารับการผ่าตัดมากที่สุดในโลก (14.7% ของทั้งหมด) และมีผู้เข้ารับการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดมากที่สุดในโลก (22.1% ของทั้งหมด)
สำหรับประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุด 10 อันดับแรกของปี 2563 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมนี ญี่ปุ่น ตุรกี เม็กซิโก อาร์เจนตินา อิตาลี รัสเซีย และอินเดีย ตามด้วยสเปน กรีซ โคลอมเบีย และไทย
ขณะที่ ประเทศที่มีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติมากที่สุดในปี 2563 ได้แก่ เม็กซิโก (28.2%) ตุรกี (25.8%) และโคลอมเบีย (21.8%) ส่วนแชมป์เก่าอย่างไทยร่วงไปอยู่อันดับสี่ (20.9%)
นอกจากนี้ การผ่าตัดยังคงดำเนินการในโรงพยาบาลเป็นหลัก (43.8% ทั่วโลก) ยกเว้นสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการผ่าตัดในคลินิกเป็นสัดส่วน 45% และผ่าตัดในศูนย์ศัลยกรรมอิสระ 34.3%