องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) เปิดเผยรายงานว่า ประมาณ 70% ของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้าไปลงทุนในเมียนมาวางแผนจะรักษาหรือขยายการดำเนินงานของพวกเขาในประเทศดังกล่าวในเวลา 1-2 ปี แม้เศรษฐกิจเมียนมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกรณีกองทัพก่อเหตุรัฐประหารเมื่อปีที่แล้วและการระบาดของโควิด-19
ทั้งนี้ ผลสำรวจของ JETRO ระบุว่า บริษัท 52.3% จะยังคงรักษาระดับการดำเนินงานในปัจจุบันในเมียนมาเอาไว้และ 13.5% จะขยายการดำเนินงาน ขณะที่ 27.5% จะลดขนาดธุรกิจในประเทศดังกล่าวและ 6.7% จะถอนธุรกิจออกจากเมียนมาหรือย้ายการดำเนินงานไปยังประเทศอื่น
สำนักข่าวเกียวโดเปิดเผยว่า รายงานลงวันที่ 9 ธ.ค.ฉบับนี้ระบุว่า หากสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจในเมียนมาเสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนมากขึ้นอาจไม่มีทางเลือก นอกจากต้องลดการดำเนินงานหรือยุติการทำธุรกิจในเมียนมา
ในขณะที่โอกาสครบรอบ 1 ปีการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ใกล้เข้ามา องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 31 ธ.ค.ว่า สถานการณ์การเมืองและความมั่นคงในเมียนมามีแนวโน้มที่จะยังคงเปราะบางในปี 2565 และการระบาดระลอก 4 ของโควิด-19 ซึ่งเกิดจากอัตราการฉีดวัคซีนในระดับต่ำและการอุบัติขึ้นของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ต่าง ๆ ได้รับพิจารณาว่าเป็นความเสี่ยงที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น
ในเดือนต.ค. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของเมียนจะหดตัว 17.9% ในปี 2564 ซึ่งลดลง 9.0% จากการประมาณการในเดือนเม.ย. นอกจากนี้ IMF ยังคาดการณ์ว่า GDP ของเมียนมาจะหดตัว 0.1% ในปี 2565