นายหยู หย่งติ้ง อดีตที่ปรึกษาธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่า การที่ธนาคารกลางจีนหันมาใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง ก็อาจยังไม่เพียงพอจะพยุงเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพได้ และรัฐบาลจีนควรเร่งเพิ่มระดับการใช้จ่ายให้มากขึ้น
"ด้วยสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ธนาคารกลางจีนอาจไม่สามารถเข้ามามีบทบาทได้มากนัก" นายหยูกล่าว พร้อมกับเสริมว่า PBOC ควรเน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายการคลัง
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.80% และได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีลง 0.05% สู่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.65% โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปีในวันนี้ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึงการให้สัมภาษณ์ของนายหยู ซึ่งระบุว่า การผ่อนคลายนโยบายการเงินในขณะนี้อาจไม่ส่งผลกระทบมากนักเนื่องจากความต้องการด้านสินเชื่อยังอ่อนแอ โดยเขามองว่า กระทรวงการคลังที่มีหน้าที่กำหนดแนวทางการใช้จ่ายของรัฐบาลควรเป็นฝ่ายผลักดันการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยมี PBOC คอยให้การสนับสนุนด้วยนโยบายการเงินที่เอื้อให้เศรษฐกิจขยายตัว
นายหยูแนะนำว่า หากยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่ชัดเจนในแง่นโยบายการคลัง ทาง PBOC ก็ไม่ควรผ่อนคลายนโยบายการเงินมากเกินไปเนื่องจากไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ชัดเจน อีกทั้งยังอาจนำมาซึ่งปัญหาอื่น ๆ ในภายหลัง ยกตัวอย่างเช่นสินเชื่อส่วนเกินที่จะไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ไม่สร้างผลผลิตทางเศรษฐกิจมากนัก เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น