กระทรวงมหาดไทยแห่งซาอุดีอาระเบียเปิดเผยว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 มี.ค.) ซาอุฯ ประหารนักโทษชายไปทั้งสิ้น 81 รายในวันเดียว โดยความผิดมีตั้งแต่การเข้าร่วมกลุ่มติดอาวุธไปจนถึงยึดถือ "ความเชื่อนอกรีต"
"บุคคลเหล่านี้รวมทั้งสิ้น 81 ราย ถูกตัดสินว่าก่ออาชญากรรมต่าง ๆ รวมถึงฆาตกรรมผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กผู้บริสุทธิ์ อาชญากรรมที่ก่อโดยคนเหล่านี้ยังรวมถึงการสวามิภักดิ์ต่อกลุ่มก่อการร้ายต่างประเทศ เช่น กลุ่มไอซิส (กลุ่มรัฐอิสลาม), กลุ่มอัลกออิดะห์ และกลุ่มฮูติ" แถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ระบุเพิ่มว่า ในจำนวนทั้ง 81 รายนั้น มีชาวเยเมน 7 ราย, ชาวซีเรีย 1 ราย ตลอดจนชาวซาอุฯ 37 รายที่มีความผิดในคดีพยายามลอบสังหารเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและพุ่งเป้าจู่โจมสถานีตำรวจและขบวนรถตำรวจ
ทั้งนี้ ทางกระทรวงฯ ไม่ได้ระบุวิธีการประหารแต่อย่างใด
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประหารในครั้งนี้เป็นการประหารหมู่ครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ซึ่งมากถึง 81 รายในวันเดียว สูงกว่าปี 2564 ทั้งปี ที่มีการประหารนักโทษไป 67 ราย และในปี 2563 ที่ 27 ราย และคาดว่าจะทำให้โลกหันมาจับตามองประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในซาอุฯ อีกครั้ง ขณะที่ชาติมหาอำนาจมุ่งความสนใจไปที่กรณีรัสเซียบุกยูเครน
ด้านกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวโทษซาอุฯ ว่าบังคับใช้กฎหมายจำกัดการแสดงออกทางการเมืองและศาสนา พร้อมวิจารณ์ซาอุฯ กรณีการใช้โทษประหารชีวิต รวมถึงการจับกุมจำเลยที่ยังเป็นผู้เยาว์
โซรายา เบาเวนส์ รองผู้อำนวยการของรีพรีฟ (Reprieve) องค์กรการกุศลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวในแถลงการณ์ว่า "มีนักโทษทางความคิดที่ถูกประหารชีวิตโดยซาอุฯ และคนอื่น ๆ ที่ถูกจับกุมขณะที่ยังเป็นผู้เยาว์หรือถูกตั้งข้อหาอาชญากรรมที่ไม่รุนแรง"