หนูแฮมสเตอร์รับเคราะห์ ยุโรปแนะอาจต้องฆ่าทิ้งสกัดฝีดาษลิงลามทั่วทวีป

ข่าวต่างประเทศ Friday May 27, 2022 09:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งยุโรป (ECDC) ได้เผยแพร่คำแนะนำเกี่ยวกับการป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) โดยระบุว่า สัตว์เลี้ยงจำพวกหนูแฮมสเตอร์, หนูตะเภา และหนูเจอร์บิล ซึ่งเป็นของผู้ป่วยที่ติดเชื้อฝีดาษลิงนั้น ควรจะถูกแยกตัวออกไปไว้ในห้องปฏิบัติการของรัฐบาล และหากไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็ควรฆ่าสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้โรคฝีดาษลิงแพร่ระบาดอย่างถาวรในภูมิภาค

ทั้งนี้ ECDC ได้เรียกร้องให้ทั้งผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงและผู้ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ พยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงของตนเอง เนื่องจากกังวลว่าไวรัสฝีดาษลิงอาจจะแพร่ระบาดครั้งใหญ่ทั่วทวีปยุโรป หากสัตว์เลี้ยงติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ โดยสัตว์เลี้ยงตระกูลฟันแทะจำพวกหนูแฮมสเตอร์, หนูเจอร์บิล, หนูตะเภา และหนูเลี้ยง (Mice) เป็นสัตว์ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ถือเป็นพาหะนำโรค

"สัตว์เลี้ยงจำพวกหนูควรถูกจับแยกออกไปอยู่ในที่ที่หน่วยงานสาธารณสุขสามารถติดตามได้ เช่นในห้องแลบ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดการคัดแยกผู้ป่วยและสัตว์เลี้ยงที่มีความเสี่ยงติดเชื้อทางเดินหายใจ นอกจากนี้ ยังควรนำสัตว์เลี้ยงเหล่านี้ไปตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ก่อนที่ระยะเวลากักกันโรคจะสิ้นสุดลง"

"การฆ่าเพื่อกำจัดสัตว์เลี้ยงจำพวกหนูควรจะเป็นทางเลือกสุดท้าย หากผลการตรวจเชื้อและการแยกกักกันโรคไม่สามารถทำได้ ส่วนสัตว์เลี้ยงประเภทอื่น ๆ เช่น สุนัขและแมว ควรถูกจำกัดให้อยู่แต่ในพื้นที่ปิด แต่ก็อาจจะแยกไว้ให้อยู่ในบ้านได้ หากพบว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสอยู่ในระดับต่ำ" ECDC ระบุ

สำนักข่าวเทเลกราฟรายงานว่า สหราชอาณาจักรพบผู้ติดโรคฝีดาษลิงแล้ว 90 ราย นับตั้งแต่พบการระบาดครั้งแรกในอังกฤษเมื่อต้นเดือนพ.ค. และพบผู้ติดเชื้อยืนยันและต้องสงสัยรวม 344 รายในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก

ทั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลสหราชอาณาจักรจะเผยแพร่คำแนะนำในลักษณะเดียวกันในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ โดยจะเรียกร้องให้ผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงพยายามหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง

ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน โดยมีสัตว์ตระกูลฟันแทะ เช่น หนู กระรอกดิน เป็นแหล่งรังโรค แต่ก็สามารถติดต่อจากคนสู่คนด้วยเช่นกัน โดยไวรัสฝีดาษลิงมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก และสายพันธุ์แอฟริกากลางหรือสายพันธุ์คองโกซึ่งมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) ระบุว่า อาการของโรคฝีดาษลิงในระยะเริ่มแรกนั้นได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโตและหนาวสั่น รวมถึงมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อาการอ่อนเพลีย โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะหายเองได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ แต่ในกรณีผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิตได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ