องค์การสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยคาดการณ์เนื่องในวันประชากรโลก (11 ก.ค.) ว่า ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 8 พันล้านคนในวันที่ 15 พ.ย.นี้ และคาดว่าอินเดียจะแซงหน้าจีนในฐานะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในปี 2566
นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN กล่าวว่า "นี่เป็นเครื่องเตือนใจถึงความรับผิดชอบร่วมกันในการดูแลโลกของเรา และเป็นเวลาที่ควรไตร่ตรองว่าเรายังไม่สามารถทำตามพันธสัญญาที่มีให้กันในด้านใดบ้าง"
รายงานการคาดการณ์ประชากรโลกประจำปี 2565 ระบุว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรเติบโตช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 โดยลดลงต่ำกว่า 1% ในปี 2563
อย่างไรก็ดี รายงานคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 8.5 พันล้านคนในปี 2573 และ 9.7 พันล้านคนในปี 2593 ก่อนที่จะพุ่งสู่ระดับ 1.04 หมื่นล้านคนในช่วงทศวรรษ 2620 โดยคาดว่าประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮาราจะมีสัดส่วนเกินครึ่งของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2593
รายงานยังระบุด้วยว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจนถึงปี 2593 จะกระจุกตัวอยู่ใน 8 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก อียิปต์ เอธิโอเปีย อินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ และสหสาธารณรัฐแทนซาเนีย
นายหลิว เจิ้นหมิน ผู้ช่วยเลขาธิการ UN ด้านกิจการทางสังคมและเศรษฐกิจ กล่าวว่า "การที่จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การขจัดความยากจน การต่อสู้กับความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการ รวมถึงการเพิ่มความครอบคลุมของระบบสาธารณสุขและการศึกษาทำได้ยากขึ้น ในทางกลับกัน การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การศึกษา และความเท่าเทียมทางเพศ จะช่วยลดอัตราการเจริญพันธุ์และชะลอการเพิ่มจำนวนของประชากรโลกได้"