หน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นเปิดเผยในวันนี้ (22 ก.ค.) ว่า ได้อนุมัติแผนปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิลงสู่มหาสมุทรแล้ว โดยน้ำดังกล่าวใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลังเกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ในปี 2554 และถูกเก็บในถังขนาดใหญ่ในโรงไฟฟ้า โดยปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1.3 ล้านตันแล้วในเดือนก.ค.
กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นระบุในแถลงการณ์ว่า หน่วยงานกำกับดูแลฯ พิจารณาว่าน้ำดังกล่าวนั้นปลอดภัยพอที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทร แม้จะยังคงมีร่องรอยการปนเปื้อนของทริเทียมหลังจากบำบัดอยู่ พร้อมเสริมว่า หน่วยงานกำกับดูแลฯจะดำเนินการตรวจสอบเพิ่มเติมต่อบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมปะนี หรือเทปโก ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าดังกล่าว
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า เทปโกมีแผนจะกรองน้ำปนเปื้อนเพื่อกำจัดไอโซโทปที่เป็นอันตรายนอกเหนือจากทริเทียม ซึ่งกำจัดได้ยาก จากนั้นจะนำไปเจือจางก่อนปล่อยทิ้ง เพื่อสะสางพื้นที่โรงงานให้โล่งว่างและเดินหน้ากระบวนการเลิกดำเนินงานที่โรงไฟฟ้าแห่งนี้ต่อไป
อย่างไรก็ตาม แผนปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่ทะเลเผชิญกระแสต่อต้านอย่างรุนแรงจากชุมชนประมงในภูมิภาค ซึ่งกังวลถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา ขณะที่เพื่อนบ้านอย่างจีน เกาหลีใต้ และไต้หวันต่างแสดงความกังวลเช่นกัน