โครงการอาหารโลก (WFP) ของสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยเมื่อวานนี้ (24 ส.ค.) ว่า จำนวนประชากรที่ต้องเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหารเฉียบพลัน เพิ่มขึ้นถึง 345 ล้านคน โดยจำนวนดังกล่าวสูงกว่า 2 เท่านับตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด-19 ระบาด, ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นางคอร์รีน ฟลีสเชอร์ ผู้อำนวยการระดับภูมิภาคของ WFP ระบุว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ประชากรที่ต้องเผชิญภาวะอดอยากเฉียบพลัน มีจำนวน 135 ล้านคนทั่วโลก และค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ผลกระทบจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งสามารถพัฒนาไปเป็นการขาดแคลนอาหาร และนำไปสู่ความขัดแย้ง และการอพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก
"โลกรับไม่ไหวแน่" นางฟลีสเชอร์กล่าว "ตอนนี้ จำนวนการพลัดถิ่นทั่วโลกเพิ่มขึ้น 10 เท่า เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาความขัดแย้ง และแน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้น เราจึงรู้สึกกังวลอย่างมากเกี่ยวกับผลกระทบโดยรวมที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคโควิด-19, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสงครามในยูเครน"
นอกจากนี้ นางฟลีสเชอร์ยังกล่าวอีกว่า วิกฤตยูเครนได้ส่งผลกระทบอย่างมากในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยเน้นย้ำถึงเรื่องการพึ่งพาการนำเข้าของภูมิภาค และความสำคัญของพื้นที่แถบทะเลดำ
ทั้งนี้ WFP จะให้การสนับสนุนแก่ประชากร 13 ล้านคนจาก 16 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร แต่ความช่วยเหลือดังกล่าวรองรับความต้องการเพียงครึ่งหนึ่งของแต่ละวันเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนเงินทุนสนับสนุน