นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า การแพร่กระจายของไวรัสอีโบลาออกนอกจุดศูนย์กลางของการแพร่ระบาดในภาคกลางของยูกันดานั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวล และจำเป็นต้องอาศัยความพยายามร่วมกันในการควบคุมการแพร่ระบาด
"การควบคุมโรคอีโบลาในเขตเมืองอาจยากลำบาก และต้องใช้ความพยายามร่วมกันอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ" นายแพทย์ทีโดรสระบุในทวิตเตอร์เมื่อวันพฤหัสบดี (27 ต.ค.)
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของยูกันดาเปิดเผยว่า ไวรัสอีโบลาได้แพร่ระบาดจากเขตมูเบนเดซึ่งมีรายงานการพบผู้ติดเชื้อเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ออกไปยัง 4 เขตใกล้เคียงภายในเวลา 2 สัปดาห์ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อและผู้แสดงอาการป่วย ทำให้ไวรัสอีโบลาแพร่กระจายไปยังเขตวากิโซและกรุงกัมปาลาซึ่งเป็นเมืองหลวงของยูกันดา
กระทรวงสาธารณสุขยูกันดารายงานว่า มีผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันแล้ว 109 ราย ณ วันที่ 26 ต.ค. โดยในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 30 ราย, รักษาหายแล้ว 34 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 45 ราย
นายแพทย์ทีโดรสกล่าวว่า ยูกันดาซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก WHO และหุ้นส่วนต่าง ๆ นั้น ยังคงยกระดับการรับมือกับโรคอีโบลาด้วยการเพิ่มการติดตามผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ, เร่งให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ และส่งเสริมความร่วมมือในชุมชน
"เราพร้อมที่จะจัดหาผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในทุก ๆ ด้านของการรับมือกับโรคอีโบลาในยูกันดา" นายแพทย์ทีโดรสระบุ
"ความร่วมมือในชุมชนมีความสำคัญต่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาในยูกันดา รวมถึงความร่วมมือในการเข้าถึงการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที, การติดตามผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อ, การฝังศพอย่างปลอดภัย และการทดลองวัคซีน" นายแพทย์ทรีโดรสระบุเสริม
WHO ยินดีที่ยูกันดาเริ่มดำเนินการทดลองวัคซีนอีโบลาอันเป็นความพยายามที่จะหยุดยั้งการแพร่ระบาด โดยนางรูธ เอเซง รมว.สาธารณสุขของยูกันดาประกาศเมื่อวันพุธ (26 ต.ค.) ว่า ภายในสองสัปดาห์ ยูกันดาจะเริ่มฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้อที่ได้รับการยืนยันจำนวน 150 ราย
WHO เรียกร้องให้บรรดานักวิจัยของยูกันดาเข้าร่วมในการทดลองวัคซีน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ทีโดรสยังระบุด้วยว่า ความร่วมมือและความพร้อมของบรรดาประเทศเพื่อนบ้านก็มีความสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคอีโบลาด้วย
"การรับมือกับโรคอีโบลาเป็นการดำเนินการที่ยากลำบาก ซึ่งต้องอาศัยทุกฝ่ายในการทำงานร่วมกันอย่างเปิดเผยและต้องเฝ้าระวัง และด้วยการทำงานที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและการปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขนั้น จะทำให้เราจะสามารถยุติการแพร่ระบาดนี้ได้" เขากล่าว