ในโอกาสที่ประชากรโลกขณะนี้ มีจำนวนแตะ 8 พันล้านคน ณ วันอังคาร (15 พ.ย.) องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้ออกมาเปิดเผยคาดการณ์ว่า อินเดียอาจก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแซงหน้าจีนในปีหน้า
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ประชากรโลกมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า นับตั้งแต่ปี 2493 เนื่องจากอัตราการเสียชีวิตลดลงและอายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มขึ้น โดยได้ปัจจัยหนุนหลักจากการสุขาภิบาลที่ดีขึ้น การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด การพัฒนาวัคซีนและยาปฏิชีวนะ รวมถึงโภชนาการที่ดีขึ้น
ข้อมูลของ UN แสดงให้เห็นว่า ระหว่างปี 2533 ถึงปี 2562 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของมนุษย์เพิ่มขึ้นเกือบ 9 ปี แตะที่อายุ 72 ปี อย่างไรก็ตาม ประชากรในประเทศยากจนที่สุดเสียชีวิต 7 ปีก่อนค่าเฉลี่ยโลกกลับเพิ่มสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการเสียชีวิตของแม่และเด็ก รวมถึงสงคราม และเชื้อไวรัส HIV
ข้อมูลระบุว่า อายุคาดเฉลี่ยของมนุษย์ลดลง 1 ปีสู่ระดับ 71 ปีในปี 2564 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม คาดว่าผู้ที่เกิดในปี 2593 จะมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 77 ปีโดยเฉลี่ย
แม้ว่ามนุษยชาติจะมีจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่อัตราการเพิ่มขึ้นกลับชะลอตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 โดยหลายครอบครัวเริ่มมีลูกน้อยลง ซึ่งทาง UN คาดว่าจำนวนประชากรโลกจะแตะจุดสูงสุดที่ 1.04 หมื่นล้านคนในช่วง 2623 และจะคงอยู่ในระดับดังกล่าวจนเข้าสู่ช่วงปี 2640
ทั้งนี้ ปัจจุบัน 2 ใน 3 ของประชากรอาศัยอยู่ในประเทศที่ผู้หญิงมีลูก 2 คนโดยเฉลี่ย ลดลงจากมีลูก 5 คนโดยเฉลี่ยในปี 2493 และคาดว่าประชากรมีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้น 6% ทั่วโลกจนถึงปี 2593