สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เลเคนแมบ (Lecanemab) นับเป็นยาตัวแรกที่สามารถชะลอการเสื่อมของเซลล์สมองในผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ และได้รับการยกย่องว่าเป็นยาที่มีความสำคัญต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก
รายงานระบุว่า ความสำเร็จในการวิจัยยาเลเคนแมบได้ยุติความล้มเหลวในการค้นคว้าหายารักษาโรคอัลไซเมอร์ที่ดำเนินมานานหลายสิบปี และแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนายารักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อไปในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ยาเลเคนแมบยังคงให้ผลในการรักษาเพียงเล็กน้อย โดยผลการทดลองในอาสาสมัคร 1,795 คนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์และได้รับยาทุกสองสัปดาห์เป็นเวลา 18 เดือนแสดงให้เห็นว่า ตัวยาสามารถชะลออาการของโรคอัลไซเมอร์ได้ประมาณ 1 ใน 4 แต่ผลกระทบของยาดังกล่าวต่อชีวิตประจำวันของผู้ป่วยก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นอกจากนี้ ตัวยาเลเคนแมบยังได้ผลในระยะเริ่มแรกของโรคเท่านั้น ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จะพลาดช่วงเวลาของการรักษาด้วยยาดังกล่าว
ยาเลเคนแมบเป็นแอนติบอดีเช่นเดียวกับที่ร่างกายสร้างขึ้น โดยได้รับการออกแบบมาให้เข้าจับกับสารที่เรียกว่าเบตา แอมีลอยด์ (beta amyloid) ที่ก่อตัวขึ้นในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ เพื่อบอกให้ระบบภูมิคุ้มกันมากำจัดสารดังกล่าวออกไป
ศาสตราจารย์จอห์น ฮาร์ดี หนึ่งในทีมนักวิจัยชั้นนำของโลกเบื้องหลังแนวคิดการกำจัดสารแอมีลอยด์เมื่อ 30 ปีก่อนได้กล่าวว่า ยาตัวนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งประวัติศาสตร์ และเชื่อมั่นว่า "เรากำลังเห็นจุดเริ่มต้นของการรักษาโรคอัลไซเมอร์"
ส่วนศาสตราจารย์ทารา สไปร์ส-โจนส์จากมหาวิทยาลัยเอดินเบอระกล่าวว่า ผลการวิจัยดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราเผชิญกับอัตราความล้มเหลวถึง 100% มาเป็นเวลานาน"