สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การแพร่ระบาดระลอกปัจจุบันของโควิด-19 ในจีนก่อให้เกิดปัญหายาสำคัญขาดตลาดทั่วภูมิภาค หลังญาติและเพื่อนฝูงที่อาศัยอยู่ต่างประเทศแห่ซื้อยาแก้ปวดและยาต้านไวรัสจากต่างประเทศเพื่อส่งกลับจีน ทำให้ราคายาพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ร้านขายยาบางแห่งจำเป็นต้องจำกัดจำนวนการขาย
เมื่อวันพุธ (28 ธ.ค.) รัฐมนตรีสาธารณสุขเกาหลีใต้ออกมาเตือนว่า จะดำเนินการลงโทษผู้ที่จำหน่ายยาแก้หวัดจำนวนมากเกินไปให้กับผู้ป่วยเพียงรายเดียว หลังจากสื่อท้องถิ่นรายงานว่า มีลูกค้าชาวจีนซื้อยามูลค่ารวม 6 ล้านวอน (4,760 ดอลลาร์) ในเมืองฮานัม จังหวัดคยองกี ขณะเดียวกัน ร้านขายยาบางแห่งในไต้หวันมี พานาดอล (Panadol) ยาแก้หวัดและไข้หวัดใหญ่คงเหลือเพียงเล็กน้อย ในขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กนิวส์ได้ไปสอบถามร้านขายยาราว 20 แห่งในฮ่องกง และพบว่ายาพานาดอลและคอลทาลิน (Coltalin) จำหน่ายหมดแล้ว
การตัดสินใจคลายข้อจำกัดคุมเข้มโควิด-19 อย่างกะทันหันของทางการจีนโดยมีเวลาเตรียมตัวเพียงน้อยนิด ผลักดันให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้โรงพยาบาลและสถานบริการจัดพิธีศพล้น
หน่วยงานสาธารณสุขระดับสูงของรัฐบาลจีนประเมินว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-19 ภายในวันเดียวเกือบ 37 ล้านคน เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งนำไปสู่การขาดแคลนยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปในท้องถิ่น ส่งผลให้มีการซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เฉิน ไช่อิง เภสัชกรในกรุงไทเป กล่าวกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กนิวส์ว่า ยาพานาดอลหมดสต็อกแล้ว และพนักงานได้รับคำสั่งให้ปฏิเสธการขายยาแก้ไข้จำนวนมากกว่า 80 เม็ดเพื่อช่วยป้องกันปัญหาการกักตุนยา
ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) พาราเซตามอล (paracetamol) และแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer Inc) เองก็เป็นหนึ่งในยาที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดในจีน แต่ด้วยปัญหาด้านอุปทานทำให้ชาวจีนต้องต่อคิวซื้อยานอกร้านค้านานหลายชั่วโมง ขณะที่แอปพลิเคชันจัดส่งสินค้าเองก็ระบุว่า คำสั่งซื้ออาจใช้เวลาหลายสัปดาห์กว่าจะมาถึง
ด้านเหม่ยถวน (Meituan) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระบุว่า ตั้งแต่วันพฤหัสบดี (29 ธ.ค.) เป็นต้นไป ผู้ให้บริการด้านเวชภัณฑ์บนแพลตฟอร์มจะเพิ่มตัวเลือกให้กับร้านขายยา เพื่อช่วยให้สามารถจำหน่ายพาราเซตามอลและไอบูโพรเฟนในปริมาณที่น้อยลงได้
เช่นเดียวกับร้านขายยาในกรุงไทเป ร้านค้าอื่น ๆ ในภูมิภาคเช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตแฟร์ไพรซ์ (FairPrice) ในสิงคโปร์ และเครือข่ายร้านขายยาในฮ่องกงอย่างวัตสัน (Watsons) และแมนนิง (Mannings) เตรียมรับมือการกว้านซื้อโดยจำกัดจำนวนการซื้อยาพานาดอลและนูโรเฟน (Nurofen) ขณะเดียวกัน ร้านขายยาบางแห่งในญี่ปุ่นก็กำลังตามรอยประเทศอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน หลังนางอี้ชุน เกิง วัย 27 ปี ผู้อยู่ในโตเกียวระบุว่า เธอสามารถซื้อยาเม็ดไอบูโพรเฟนของอีฟ (EVE) ได้เพียง 2 กล่องที่ร้านเดียวกันเพื่อส่งให้ครอบครัวของเธอในประเทศจีน
ด้านบริษัทไทโช ฟาร์มาซูติคอล โฮลดิงส์ (Taisho Pharmaceutical Holdings Co) จากกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นผู้ผลิตยา พาบรอน (Pabron) ซึ่งเป็นยาที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ ระบุว่า มีความต้องการยาเพิ่มขึ้นทันทีอย่างไม่คาดคิด หลังจากมีโพสต์จากโซเชียลมีเดียจีนที่ระบุว่า ยาตัวดังกล่าวสามารถบรรเทาอาการของโควิดได้ ซึ่งทางไทโชได้ระบุผ่านอีเมลเมื่อวานนี้ (29 ธ.ค.) ว่า ไม่มียาชนิดใดที่ซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ รวมถึงของทางบริษัท ที่มีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 ได้ พร้อมแนะนำให้ลูกค้าใช้ยาอย่างระมัดระวัง
ขณะเดียวกัน พนักงานของร้านแมนนิงในฮ่องกง ได้ติดป้ายใต้ชั้นวางเปล่าที่มีข้อความว่า "อย่าโก่งราคา" ข้างประกาศที่แจ้งลูกค้าว่าการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรเทาหวัด ไข้หวัด และแก้ปวดจะถูกจำกัดไว้ที่ 2 ชิ้นต่อแบรนด์ต่อการทำธุรกรรม 1 ครั้ง เนื่องจาก "ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน" ขณะที่ ร้านวัตสันก็จำกัดการซื้อพานาดอลไว้ที่ 6 กล่อง