บริษัทอาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง และ และหัวเว่ย เทคโนโลยี่ เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีของจีนที่เร่งสร้างศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อจับตลาดที่ร้อนแรงสำหรับการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing)
สำนักข่าวนิเกอิ เอเชียรายงานว่า เมื่อเดือนพ.ย. หัวเว่ยได้สร้างศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งดึงดูดลูกค้าท้องถิ่นได้ประมาณ 30 รายภายในสิ้นปีที่ผ่านมา โดยนายแจ็คกี้ เฉิน ซีอีโอของหัวเว่ยอินโดนีเซียกล่าวว่า บริษัทจะสามารถส่งมอบนวัตกรรมดิจิทัลในอินโดนีเซียผ่านโครงการนี้ต่อไปได้
นายเฉินระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งที่ 3 ที่เป็นที่ตั้งศูนย์ข้อมูลของหัวเว่ย ร่วมกับไทยและสิงคโปร์ โดยในอีก 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ยจะทุ่มเม็ดเงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในอินโดนีเซีย
ในการก้าวไปสู่สังคมที่มีการเชื่อมต่อ การประมวลผลแบบคลาวด์เป็นอุตสาหกรรมหลักในระดับเดียวกับเซมิคอนดักเตอร์ หัวเว่ยและบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ของจีนล้วนต้องการขยายธุรกิจเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากที่โรคโควิด-19 ระบาดได้ผลักดันให้เกิดการก้าวสู่ยุคดิจิทัล
รายงานที่จัดทำโดยกูเกิล, เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ และเบน แอนด์ คัมพานีระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มขยายตัว 20% แตะ 1.94 แสนล้านดอลลาร์ในปีที่ผ่านมา โดยข้อกำหนดให้มีการจัดเก็บรักษาข้อมูลไว้ภายในประเทศได้กระตุ้นให้มีความต้องการสร้างศูนย์ข้อมูล
ขณะเดียวกัน อาลีบาบากำลังดำเนินการเปิดศูนย์ข้อมูลในประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเพิ่งสร้างศูนย์ข้อมูลแห่งแรกในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า บริษัทวางแผนใช้จ่ายเงิน 1 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2564 เพื่อพัฒนาศูนย์ข้อมูลให้สามารถดำเนินการได้ทัดเทียมกับธุรกิจค้าปลีกออนไลน์หลักของบริษัท
ทั้งนี้ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเป็นศูนย์กลางของโครงการริเริ่มของอาลีบาบาในการฝึกอบรมพนักงาน 1 ล้านคนในสาขาดิจิทัล และสนับสนุนสตาร์ทอัปด้านเทคโนโลยี 100,000 ราย