สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เยอรมนีไม่บังคับสวมหน้ากากอนามัยขณะเดินทางโดยรถไฟและรถโดยสารระยะไกลอีกต่อไปหลังจากดำเนินมาตรการดังกล่าวมาเกือบ 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง
ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 ก.พ. ขณะที่รัฐบาลกลางบางแห่งของเยอรมนีได้ยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดน้อยลงเรื่อย ๆ นายคาร์ล เลาเทอร์บัค รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยอรมนีจึงได้เสนอให้ยุติการบังคับสวมหน้ากากอนามัยให้เร็วขึ้นจากเดิมที่เคยกำหนดไว้ว่าจะยุติในเดือนเม.ย. แต่ก็ยังคงแนะนำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยโดยสมัครใจต่อไป
ข้อมูลจากทางการระบุว่า นับตั้งแต่เริ่มต้นปี 2566 จำนวนผู้ติดเชื้อในเยอรมนีลดลงจากราว 160 รายต่อประชากร 100,000 คน สู่ระดับ 92 รายเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.)
ส่วนมาตรการสุดท้ายที่เหลืออยู่คือ การบังคับกักตัวผู้ติดเชื้อและการสวมหน้ากากอนามัยในสถานพยาบาล ซึ่งก็จะถูกยกเลิกในเร็ว ๆ นี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ด้านไบออนเทค บริษัทผู้ผลิตวัคซีนของเยอรมนีได้ประกาศเมื่อวานนี้ (2 ก.พ.) ว่า ทางบริษัทกำลังพัฒนาโรงงานแห่งหนึ่งในเมืองมาร์เบิร์ก รัฐเฮสส์ของเยอรมนีด้วยเม็ดเงิน 40 ล้านยูโร (43.7 ล้านดอลลาร์) เพื่อผลิตพลาสมิด (plasmid) ของตนเองสำหรับการผลิตวัคซีน
อนึ่ง พลาสมิดคือ โมเลกุลดีเอ็นเอรูปวงแหวนซึ่งสามารถใช้เป็นวัสดุตั้งต้นสำคัญสำหรับการผลิตตัวส่งสารของอาร์เอ็นเอ (RNA) ซึ่งไม่เพียงแค่อยู่มีในวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังใช้ในยารักษาโรคติดเชื้ออื่น ๆ และโรคมะเร็งด้วย