องค์การสหประชาชาติ (UN) วางแผนลดความช่วยเหลือด้านอาหารแก่กลุ่มผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศ เนื่องจากขาดแคลนเงินทุน ซึ่งองค์กรต่าง ๆ ได้ออกมาเตือนในวันนี้ (17 ก.พ.) ว่า การลดความช่วยเหลือดังกล่าวจะทำให้ปัญหาด้านความไม่มั่นคงทางอาหารและภาวะขาดโภชนาการในค่ายพักพิงผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมีความรุนแรงยิ่งขึ้น
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวโรฮิงญาประมาณ 730,000 คน ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่ถูกกดขี่ข่มเหงในรัฐยะไข่ของเมียนมา ได้อพยพไปยังบังกลาเทศในปี 2560 เพื่อหลบหนีการปราบปรามจากทหาร ซึ่งองค์การสหประชาชาติชี้ว่า การกระทำของกองทัพเมียนมานั้นเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยเจตนา
โครงการอาหารโลก (WFP) กล่าวว่า จะลดเงินช่วยเหลือค่าอาหารจากคนละ 12 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือคนละ 10 ดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ในเดือนหน้า ทั้งนี้เงินช่วยเหลือของผู้บริจาคลดลงน้อยลงเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และวิกฤตการณ์ด้านต่าง ๆ ทั่วโลก
รายงานระบุว่า โครงการอาหารโลกได้ร้องขอเงินช่วยเหลือเร่งด่วนมูลค่า 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมเตือนถึงผลกระทบใหญ่หลวงและยาวนานต่อความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการในค่ายผู้ลี้ภัยของชาวโรฮิงญา โดยเด็กกว่าหนึ่งในสามในค่ายลี้ภัยดังกล่าวมีรูปร่างแคระแกร็นและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
นายออนโน ฟาน มาเนน ผู้อำนวยการองค์กรเซฟ เดอะ ชิลเดรน (Save the Children) ประจำบังกลาเทศ กล่าวว่า "การที่ชุมชนผู้บริจาคนานาชาติกำลังหันหลังให้กับเด็กชาวโรฮิงญาจำนวนครึ่งล้านคนและครอบครัวของเด็ก ๆ เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงขีดจำกัดของความมุ่งมั่นของพวกเขาที่มีต่อกลุ่มผู้เปราะบางที่สุดในโลก"
ขณะที่ นายไมเคิล ฟาครี และนายโธมัส แอนดรูวส์ ผู้รายงานพิเศษประจำองค์การสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ โดยระบุว่า การลดเงินช่วยด้านอาหารก่อนถึงเดือนรอมฏอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิมเพียงไม่นาน ถือเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล
ด้านนายโมฮัมเหม็ด มิซานูร์ เราะห์มาน คณะกรรมการการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและการส่งกลับภูมิลำเนาของบังกลาเทศกล่าวว่า การตัดความช่วยเหลือด้านอาหารจะผลักดันให้ชาวโรฮิงญาออกไปหางานทำมากขึ้น แม้ขัดต่อกฎหมายก็ตาม