สำนักข่าวสกายนิวส์รายงานเมื่อวานนี้ (1 มี.ค.) ว่า ตัวอย่างไวรัสไข้หวัดนกที่ได้จากเด็กหญิงชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตนั้นมีการกลายพันธุ์ ซึ่งทำให้ไวรัสสามารถปรับตัวเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้ดีขึ้น
ทั้งนี้ เชื่อกันว่า เด็กหญิงวัย 11 ปีได้รับเชื้อจากสัตว์ปีกที่ครอบครัวเลี้ยงไว้ในจังหวัดไพรแวงทางตอนใต้ของกัมพูชา ขณะที่บิดาของเด็กหญิงก็ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ด้วยเช่นกัน แต่ไม่มีอาการป่วย
ดร.อีริก คาร์ลสัน จากสถาบันวิจัยปาสเตอร์แห่งกัมพูชา (Pasteur Institute of Cambodia) ได้ถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างเชื้อไวรัสที่ได้จากเด็กหญิงที่เสียชีวิต ซึ่งพบว่าเป็นไวรัสที่แตกต่างจากตัวอย่างที่เก็บได้จากสัตว์ปีก
"มีข้อบ่งชี้บางอย่างที่ระบุว่า ไวรัสนี้สามารถผ่านเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่ไวรัสเหล่านี้เข้าสู่โฮสต์ (host) ใหม่ (ร่างกายมนุษย์) มันก็จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นเล็กน้อย หรืออาจจับตัวเข้ากับเซลล์ในระบบทางเดินหายใจของเราได้ดีขึ้นด้วย" ดร.คาร์ลสันกล่าว
ดร.คาร์ลสันกล่าวอีกว่า การกลายพันธุ์ไม่น่าจะเกิดขึ้นในร่างกายเด็กผู้หญิง แต่น่าจะอยู่ในกลุ่มก้อนของไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมแบบสุ่มในสัตว์ปีก
"การเข้าสู่โฮสต์ใหม่จะทำให้ไวรัส 1 หรือ 2 ตัวในกลุ่มก้อนนั้นมีแนวโน้มอยู่รอด และจะเพิ่มจำนวนมากขึ้น" ดร.คาร์ลสันกล่าว
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ดร.คาร์สันระบุว่า เชื้อไวรัสดังกล่าวยังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับร่างกายมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ และยังคงเป็นไวรัสของสัตว์ปีก