สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า คณะผู้เจรจากว่า 100 ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) ได้ตกลงร่วมกันในข้อความสำหรับสนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกเพื่อปกป้องทะเลหลวง ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่สำคัญและเปราะบางซึ่งครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของโลก หลังจากหารือกันมานานกว่า 15 ปี
สนธิสัญญานี้ถูกมองว่ามีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายในการอนุรักษ์ผืนดินและมหาสมุทร 30% ของโลกภายในปี 2573 ตามที่รัฐบาลโลกเห็นชอบในข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ที่ลงนามที่เมืองมอนทรีออลในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา
"เรือถึงฝั่งแล้ว" เรนา ลี ประธานการประชุม UN ประกาศที่สำนักงานใหญ่ของ UN ในนิวยอร์ก ก่อนเวลา 9.30 น. ตามเวลาไทยเพียงไม่นาน เรียกเสียงปรบมือจากผู้แทนของประเทศต่าง ๆ
ทั้งนี้ ทะเลหลวงเริ่มต้นที่พรมแดนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่าง ๆ และตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจของประเทศใดประเทศหนึ่ง แม้ว่าทะเลหลวงจะประกอบด้วยมหาสมุทรมากกว่า 60% ของโลกและเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นผิวโลก แต่ก็ได้รับความสนใจน้อยกว่าน่านน้ำชายฝั่งและสปีชีส์ที่มีชื่อเสียงเพียงไม่กี่ชนิด ระบบนิเวศในมหาสมุทรสร้างออกซิเจนครึ่งหนึ่งที่มนุษย์ใช้ในการหายใจ และจำกัดภาวะโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีเพียงประมาณ 1% ของทะเลหลวงเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครอง
สนธิสัญญาฉบับใหม่ เมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ลงนาม และให้สัตยาบันโดยประเทศต่าง ๆ เพียงพอแล้ว จะอนุญาตให้มีการสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในน่านน้ำสากลเหล่านี้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ประเทศต่าง ๆ ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมที่เสนอในทะเลหลวงอีกด้วย
ในระหว่างการพูดคุย มีความตึงเครียดเกิดขึ้นในหัวข้อการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลที่มีการค้นพบใหม่ในน่านน้ำสากล โดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากังวลว่าตนจะพลาดการหาประโยชน์ทางการค้าจากทรัพยากรเหล่านี้หากตนถูกกีดกันออกจากข้อตกลง แต่ในที่สุด ประเทศต่าง ๆ ก็ตกลงกันในประเด็นดังกล่าวได้ในนิวยอร์กเมื่อวานนี้ (4 มี.ค.) ซึ่งพ้นเดดไลน์การเจรจาเดิมไปหนึ่งวัน
เช่นเดียวกับการอภิปรายเรื่องภาวะโลกรวนในฟอรัมระหว่างประเทศอื่น ๆ การถกเถียงเกี่ยวกับสนธิสัญญาทะเลหลวงก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องการรับรองความเสมอภาคระหว่างกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยทางซีกโลกเหนือและกลุ่มประเทศที่ยากจนทางซีกโลกใต้ เพื่อเป็นการสร้างความไว้วางใจระหว่างสองกลุ่มประเทศนี้ สหภาพยุโรป (EU) จึงให้คำมั่นว่าจะให้เงิน 40 ล้านยูโร (42 ล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยสนับสนุนการให้สัตยาบันในสนธิสัญญาและช่วยให้เกิดการปฏิบัติตามสนธิสัญญาในช่วงแรก
ข้อตกลงในสนธิสัญญาทะเลหลวงครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญ และเมื่อได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการแล้ว จะช่วยอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรอย่างยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปในอนาคต