ยูเครนเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการประชุมวิสามัญเพื่อตอบโต้อย่างเป็นทางการครั้งแรกต่อกรณีที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศว่าจะติดตั้งฐานอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในเบลารุส
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า กระทรวงต่างประเทศยูเครน กล่าวตอบโต้แผนการของนายปูตินเมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ว่า การประกาศติดตั้งฐานอาวุธนิวเคลียร์ในเบลารุสนับเป็นการยั่วยุอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งบ่อนทำลายสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ โครงสร้างของการปลดอาวุธนิวเคลียร์ และระบบความมั่นคงระหวางประเทศ"
กระทรวงต่างประเทศยูเครนยังได้เรียกร้องให้สังคมเบลารุสยับยั้ง "การเป็นเครื่องมือดำเนินการอาชญากรรม" นี้ พร้อมระบุว่าแผนการที่นายปูตินเปิดเผยออกมาโดยได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ผู้นำเบลารุสนั้น จะส่งผลที่ร้ายแรงอย่างยิ่งในอนาคต
ยูเครนยังได้เรียกร้องให้อังกฤษ จีน สหรัฐ และฝรั่งเศส ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อตอบโต้การข่มขู่ด้วยนิวเคลียร์ ในฐานะสมาชิกถาวรของ UNSC อย่างไรก็ตาม การประชุมของ UNSC อาจไม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล เนื่องจากรัสเซียเองก็เป็นสมาชิกถาวรด้วยเช่นกัน และสามารถใช้สิทธิ์คัดค้านมติหรือการดำเนินการใด ๆ ซึ่งที่ประชุมเสนอได้
ด้านนางสเวียตลานา ชิคาโนสกายา ผู้นำฝ่ายค้านของเบลารุสที่ถูกเนรเทศ กล่าวว่า แผนการติดตั้งนิวเคลียร์ของรัสเซียขัดแย้งต่อเจตจำนงของชาวเบลารุสเป็นอย่างมาก และจะทำให้ประเทศนี้ตกเป็นเป้าหมายของการตอบโต้
ขณะที่นายโจเซฟ โบร์เรล ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่เบลารุสเปิดประเทศให้รัสเซียติดตั้งอาวุธปรมาณู จะเป็นการเพิ่มความตึงเครียดของดำเนินการอย่างไร้ความรับผิดชอบ และภัยคุกคามต่อความมั่นคงของยุโรป และอาจนำไปสู่การคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นโดยสหภาพยุโรป
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กล่าวว่าการตัดสินใจเรื่องนิวเคลียร์ของรัสเซียเป็นสิ่งที่อันตรายและไร้ซึ่งความรับผิดชอบ แต่ทั้งนี้ยังไม่แน่ชัดว่าการประกาศของนายปูติน ซึ่งมีขึ้นไม่กีวันหลังจากที่ประธานาธิบสี จิ้นผิง เดินทางเยือนรัสเซีย จะเปลี่ยนแปลงภาพรวมของภัยคุกคามนิวเคลียร์อย่างแท้จริงหรือไม่