อินเดียพบผู้ติดเชื้อราจากพืชคนแรกของโลกที่เมืองโกลกาตา ซึ่งผู้ป่วยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเห็ดและเชื้อรา (plant mycologist) วัย 61 ปี โดยเขาต้องทุกข์ทรมานจากอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบ กลืนลำบาก เจ็บคอ และอ่อนเพลียตลอดระยะเวลา 3 เดือน
แพทย์ได้ระบุในวารสารการแพทย์ Medical Mycology Case Reports เกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ชายคนดังกล่าวไม่มีประวัติการป่วยเป็นโรคเบาหวาน ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ป่วยด้วยโรคไต หรือโรคเรื้อรังใด ๆ และไม่มีการใช้ยากดภูมิคุ้มกันหรือมีบาดแผลทางจิตใจ อย่างไรก็ตาม เขาได้ทำงานคลุกคลีอยู่กับวัตถุที่เน่าเปื่อย เห็ดชนิดต่าง ๆ และราจากพืชหลากหลายชนิดเป็นเวลานาน อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมด้านการวิจัยของเขา
หลังจากที่แพทย์ได้ทำการเอกซเรย์และซีที สแกนชายคนดังกล่าวแล้วพบว่า ผลการเอกซเรย์ทรวงอกออกมา "ปกติ" ขณะที่ผลการซีที สแกนกลับพบว่ามีฝีในหลอดลมของเขา
ทั้งนี้ ฝีในหลอดลมสามารถกีดขวางทางเดินหายใจและนำไปสู่การติดเชื้อที่ถึงแก่ชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาโดยเร็ว
หลังจากนั้น แพทย์จึงได้นำฝีหนองออกและส่งตัวอย่างไปทดสอบที่ศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกเพื่อการอ้างอิงและการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อราที่มีความสำคัญทางการแพทย์ (WHO Collaborating Centre for Reference & Research on Fungi of Medical Importance) และได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นราสายพันธุ์ Chondrostereum purpureum
วารสารระบุว่า "Chondrostereum purpureum เป็นเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคใบสีเงิน (Silver leaf) ในพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชในวงศ์กุหลาบ นี่จึงเป็นครั้งแรกของราจากพืชที่ก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ โดยเทคนิคทั่วไป (การส่องกล้องจุลทรรศน์และการเพาะเชื้อ) ไม่สามารถระบุเชื้อราชนิดนี้ได้"
"กรณีดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของราจากพืชในการก่อให้เกิดโรคในมนุษย์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของเทคนิคระดับโมเลกุลในการระบุสายพันธุ์ของเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรค" วารสารระบุ
นักวิจัยระบุว่า ผู้ป่วยได้รับยาต้านเชื้อราและหลังจากที่ติดตามอาการคนไข้เป็นเวลา 2 ปี พบว่าผู้ป่วยสบายดีและไม่มีสัญญาณของการกลับเป็นซ้ำอีก