นักภูมิอากาศวิทยากล่าวว่า โลกเราอาจได้บันทึกสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยใหม่ในปี 2566 หรือ 2567 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศแบบเอลนีโญ (El Nino)
แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ให้เห็นว่า หลังจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ในมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วทำให้อุณหภูมิโลกลดต่ำลงเล็กน้อย และโลกก็จะเผชิญกับปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นในปีนี้
ในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น กระแสลมที่พัดไปทางทิศตะวันตกตามแนวเส้นศูนย์สูตรจะเคลื่อนตัวช้าลง และกระแสน้ำอุ่นจะถูกพัดให้ไหลไปทางตะวันออก ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรอุ่นขึ้น
นายคาร์โล บวนเทมโป ผู้อำนวยการหน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Copernicus Climate Change Service - C3S) ของสหภาพยุโรป (EU) กล่าวว่า "โดยปกติแล้วปรากฏการณ์เอลนีโญนั้น มักเกี่ยวข้องกับการทำลายสถิติอุณหภูมิในระดับโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566 หรือ 2567 ก็ตาม ซึ่งตัวผมเองคิดว่า ปรากฏการณ์นี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูง"
นายบวนเทมโปกล่าวเสริมว่า "แบบจำลองสภาพภูมิอากาศบ่งชี้ว่า ภาวะเอลนีโญจะเกิดขึ้นในช่วงปลายฤดูร้อน และมีความเป็นไปได้ที่ปรากฏการณ์เอลนีโญจะรุนแรงขึ้นในช่วงปลายปี"
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ปีที่อุณหภูมิโลกร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จนถึงตอนนี้คือปี 2559 ซึ่งตรงกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น แม้ไม่มีปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดขึ้นก็ตาม