เว็บไซต์ข่าวยูเอสเอ ทูเดย์รายงานโดยอ้างการเปิดเผยของแม็กซิมิเลียโน เฮอร์เรรา ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศและสภาพอากาศซึ่งระบุว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญกับคลื่นความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์และเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยในหลายพื้นที่ทำสถิติอุณหภูมิสูงสุดครั้งใหม่ในเดือนเม.ย. ซึ่งรวมถึงจังหวัดตากของไทยที่มีอุณหภูมิสูงถึง 113.7 องศาฟาเรนไฮต์ (45.38 องศาเซลเซียส) และกลายเป็นจังหวัดที่ร้อนที่สุดของไทย
นอกจากนี้ ประเทศลาวยังมีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่หลวงพระบางมีอุณหภูมิสูงถึง 108.9 องศาฟาเรนไฮต์ (42.72 องศาเซลเซียส)
ทั้งนี้ การที่คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมไปทั่วเอเชีย ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงจีน, ไทย และญี่ปุ่นนั้น ทำให้เฮอร์เรราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ปีศาจคลื่นความร้อนเอเชีย (Monster Asian Heat Wave)" ซึ่งเป็นคลื่นความร้อนรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
สำนักข่าว CNN รายงานว่า คลื่นความร้อนได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดด (ฮีทสโตรก) ในอินเดียจำนวน 13 ราย และมีประชาชนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลจำนวน 50-60 รายหลังจากประชาชนเหล่านี้เข้าร่วมพิธีศพในเมืองนาวิมุมไบ ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของรัฐมหาราษฏระ (Maharashtra)
ทางด้านเว็บไซต์ข่าวแอกซิออส (Axios) รายงานว่า พิธีศพดังกล่าวจัดขึ้นนอกตัวอาคาร และมีประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมพิธีอย่างแออัด ขณะที่วิทยาลัยทุกแห่งในรัฐเบงกอลตะวันตกยังถูกสั่งปิดการเรียนการสอน เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัด
นอกจากนี้ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจีนยังเผชิญกับอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเม.ย. โดยจิม หยาง ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา สถานีอากาศจำนวน 109 แห่งใน 12 มณฑลของจีนรายงานอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์สำหรับเดือนเม.ย. แม็กซิมิเลียโน เฮอร์เรรา กล่าวว่า คลื่นความร้อนยังแผ่ปกคลุมไปยังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ในวันพุธที่ 19 เม.ย. โดยมีอุณหภูมิสูงเกือบ 90 องศาฟาเรนไฮต์ (32.22 เซลเซียส) ซึ่งถือเป็นระดับความร้อนที่ผิดปกติสำหรับประเทศเหล่านี้ และคาดว่าความร้อนจะสูงขึ้นอีกในอีกไม่กี่วันหลังจากนั้น
สำหรับสาเหตุของการเกิดคลื่นความร้อนรุนแรงนั้น จอห์นสัน นิโคลส์ นักอุตุนิยมวิทยาของ AccuWeather กล่าวว่า คลื่นความร้อนมีสาเหตุมาจากสันความกดอากาศสูงขนาดใหญ่ในหลายพื้นที่ตั้งแต่อ่าวเบงกอลไปจนถึงทะเลฟิลิปปินส์ โดยแรงกดดันสูงได้บดบังเมฆและการก่อตัวของฝน และทำให้ท้องฟ้ากระจ่างใส
นอกจากนี้ AccuWeather ระบุว่า คลื่นความร้อนยังมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยข้อมูลจาก U.N. Intergovernmental Panel on Climate Change แสดงให้เห็นว่า สภาพอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นก็จะส่งผลให้เกิดคลื่นความร้อนมากขึ้นเช่นกัน