องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติหรือยูนิเซฟ (UNICEF) เปิดเผยรายงานล่าสุดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพายุไซโคลนมอคค่า (Mocha) ซึ่งพัดถล่มบังกลาเทศและเมียนมานั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเด็กและครอบครัวกลุ่มเปราะบางหลายล้านชีวิต ซึ่งรวมถึงผู้ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก
ยูนิเซฟเตือนว่า แม้พายุไซโคลนลูกนี้จะเคลื่อนตัวผ่านไปแล้ว แต่ความเสี่ยงที่จะเกิดดินถล่มยังคงสูงมาก รวมถึงอันตรายต่าง ๆ เช่น โรคติดต่อที่มากับน้ำ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกไม่กี่วันต่อจากนี้
ยูนิเซฟระบุว่า พายุไซโคลนมอคค่าได้พัดถล่มแนวชายฝั่งของบังกลาเทศและเมียนมาเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ (14 พ.ค.) ส่งผลให้บ้านเรือน สถานพยาบาล โรงเรียน และโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเสียหายย่อยยับ ซึ่งผู้คนหลายแสนคนที่ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าวล้วนเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้พลัดถิ่นที่อาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงที่มีโครงสร้างไม่แข็งแรงในค่ายต่าง ๆ และพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ซึ่งต้องพึ่งพาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในการจัดหาอาหาร น้ำ บริการสาธารณสุข การศึกษา และการปกป้องอย่างมาก
ยูนิเซฟระบุว่า สถานการณ์ในเมียนมาในขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยมีประชากรกว่า 16 ล้านคน ซึ่งในจำนวนี้เป็นเด็กเล็กจำนวน 5.6 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากอยู่ในเส้นทางโคจรของพายุไซโคลนในรัฐยะไข่และพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา
ส่วนในบังกลาเทศ ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายค็อกซ์บาซาร์ (Cox's Bazar) ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้น ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา 1 ล้านคนต้องเผชิญกับลมพายุกรรโชกรุนแรง โดยครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยเป็นเด็กเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ค่ายผู้ลี้ภัยดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มสถานที่ที่แออัดที่สุดในโลก และยังเสี่ยงต่อโคลนถล่มอีกด้วย นอกจากนี้เด็ก ๆ ต้องอาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราวที่มีความเปราะบาง