เมอร์ค (Merck) เปิดตัวโครงการใหม่อย่างเฟอร์ทิลิตี เคานต์ส (Fertility Counts) พุ่งเป้าจัดการปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ เนื่องจากอัตราการเกิดในระดับต่ำของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยการนำเสนอผลการศึกษาและทรัพยากรแก่ผู้กำหนดนโยบายนำไปปรับใช้กับนโยบาย เพื่อสร้างสังคมที่เอื้ออำนวยต่อครอบครัวได้มากยิ่งขึ้น
อัตราการเกิดของหลาย ๆ ประเทศในเอเชียแปซิฟิกลดลงอย่างมากในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อทั้งขนาดและโครงสร้างของประชากร จำนวนเด็กที่เกิดโดยเฉลี่ยต่อผู้หญิงหนึ่งคนทั่วทั้งภูมิภาคนั้นลดลงถึงสามเท่ามาตั้งแต่ปี 2503 จาก 5.4 ในปี 2503 เหลือเพียง 1.8 ในปี 2563
โดยที่บางประเทศลดลงมากยิ่งกว่านั้น แม้อัตราการเกิดที่ลดลงจะนำไปสู่โอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้หญิงทั่วภูมิภาค แต่ปัจจุบันหลายประเทศเผชิญกับความท้าทายในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อมีกำลังแรงงานลดลง และการสร้างสมดุลกับความต้องการของสังคมสูงวัย
ศ.นพ. กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มที่เราเห็นเกี่ยวกับภาวะเจริญพันธุ์ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะส่งผลระยะยาวต่อทุกส่วนของสังคม ทั้งเศรษฐกิจ ระบบการรักษาพยาบาล และการดูแลผู้สูงอายุในอนาคต ขณะนี้เราจำเป็นต้องสำรวจวิธีแก้ปัญหาเชิงนโยบายอย่างจริงจังในการรองรับและสนับสนุนผู้ที่ต้องการมีบุตร เพื่อจัดการกับปัจจัยขับเคลื่อนเบื้องหลังอัตราการเกิดที่ลดลง
ชุดเครื่องมือนโยบายการเจริญพันธุ์ (Fertility Policy Toolkit) ซึ่งอีโคโนมิสต์ อิมแพกต์ (Economist Impact) เป็นผู้ออกแบบ และเมอร์คให้การสนับสนุน ได้รับคำแนะนำจากคณะนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญทางคลินิก และผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐทั่วเอเชียแปซิฟิก ชุดเครื่องมือนี้มุ่งเน้นไปที่นโยบายใน 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่ การดูแลเด็ก สถานที่ทำงาน สิ่งจูงใจทางการเงิน และมาตรการช่วยการเจริญพันธุ์ ทั้งยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายที่ควรได้รับการพิจารณา ตลอดจนตัวอย่างการนำนโยบายเหล่านี้ไปปฏิบัติในประเทศต่าง ๆ โดยพิจารณาจากสถานะการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ๆ
"แนวโน้มประชากรมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง โดยเมื่อเด็กที่เกิดมีจำนวนน้อยลงขณะที่อายุขัยเพิ่มขึ้น หลาย ๆ ประเทศจึงต้องสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของประชากรสูงอายุกับแรงงานที่ลดลง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ เราจะสร้างสังคมที่เติบโตและยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไปได้อย่างไร นั่นคือคำถามที่หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเผชิญอยู่"ลิซ เฮนเดอร์สัน รองประธานอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของเมอร์ค กรุ๊ป และหัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนในภาคดูแลสุขภาพ กล่าว