สำนักข่าวรอยเตอร์นำเสนอผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารไซเอนซ์ (Science) เมื่อวานนี้ (18 พ.ค.) ซึ่งพบว่า ทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งของโลกมีระดับน้ำลดลงนับตั้งแต่ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1990 โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะโลกร้อน ทำให้เกิดความวิตกมากขึ้นว่า มนุษย์จะมีน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร การผลิตไฟฟ้า และการบริโภคหรือไม่
ทีมนักวิจัยจากประเทศต่าง ๆ พบว่า แหล่งน้ำจืดสำคัญ ๆ ของโลก เช่น ทะเลแคสเปียนและทะเลสาบติติกากา สูญเสียน้ำในอัตราสะสมประมาณ 22 กิกะตันต่อปีเป็นเวลาเกือบสามทศวรรษ คิดเป็นประมาณ 17 เท่าของปริมาตรของทะเลสาบมี้ด ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ
นายฟางฟาง เหยา นักอุทกวิทยาผิวดินแห่งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ซึ่งเป็นผู้นำการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า 56% ของการลดลงของทะเลสาบธรรมชาติมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากภาวะโลกร้อน และบางส่วนมาจากการใช้น้ำของมนุษย์
นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศมักคิดว่าภาวะโลกร้อนทำให้พื้นที่แห้งแล้งจะยิ่งแล้งหนัก และพื้นที่ฝนตกจะยิ่งฝนตกชุก อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่ามีการสูญเสียน้ำอย่างมากแม้ในพื้นที่ที่มีความชื้นอยู่แล้ว
"เรื่องนี้ไม่ควรมองข้าม" นายเหยากล่าว
ทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำการศึกษาได้สำรวจทะเลสาบขนาดใหญ่เกือบ 2,000 แห่งโดยใช้ดาวเทียมร่วมกับแบบจำลองภูมิอากาศและอุทกวิทยาในการตรวจวัด โดยพบว่าการใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืนของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและการไหลของน้ำ การสะสมตัวของตะกอน และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำในทะเลสาบลดลงทั่วโลก โดย 53% ของทะเลสาบมีระดับน้ำลดลงตั้งแต่ปี 2535-2563
ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า การใช้น้ำอย่างไม่ยั่งยืนของมนุษย์ส่งผลให้ทะเลสาบ เช่น ทะเลอารัลในเอเชียกลางและทะเลเดดซีในตะวันออกกลาง เหือดแห้ง ขณะที่ทะเลสาบในอัฟกานิสถาน, อียิปต์ และมองโกเลียได้รับผลกระทบจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการสูญเสียน้ำสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์และนักเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้กล่าวมาเป็นเวลานานแล้วว่า เราต้องหาทางจำกัดภาวะโลกร้อนให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบัน โลกกำลังร้อนขึ้นในอัตราประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส