หัวเว่ยเผยแพลตฟอร์มคลาวด์และเอไอ (AI) ของหัวเว่ยช่วยให้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติตรวจพบเสือจากัวร์เพศผู้ที่โตเต็มวัยแล้ว 2 ตัว รวมถึงเสือจากัวร์เพศเมียที่โตเต็มวัยแล้วอีก 1 ตัว และลูกเสือจากัวร์อีก 2 ตัว ในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัม (Dzilam State Reserve) รัฐยูกาตัน ประเทศเม็กซิโก
โดยการค้นพบดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคฟอร์เนเจอร์ (Tech4Nature) ซึ่งเกิดจากการผนึกกำลังกันระหว่างองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature หรือไอยูซีเอ็น) และหัวเว่ย ในเขตสงวนแห่งรัฐดซิลัมเมื่อปี 2565
ก่อนหน้าที่โครงการนี้จะเปิดฉากขึ้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญไม่ทราบมาก่อนว่าเขตสงวนแห่งนี้มีเสือจากัวร์อาศัยอยู่หรือไม่ หรือมีอยู่จำนวนมากน้อยเท่าใด
เรจินา เซอร์เวรา ผู้ประสานงานโครงการประจำองค์กรนวัตกรรมซีไมนด์ส (C Minds) กล่าวว่า เสือจากัวร์ถือเป็นสัตว์ป่าที่เป็นร่มเงา ฉะนั้น หากเราปกป้องเสือจากัวร์ก็จะเท่ากับว่าเราได้ช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ ที่อยู่รอบตัวพวกมันด้วย สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ถือเป็นก้าวสำคัญและเป็นการบุกเบิกการตัดสินใจด้านการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ และแนวทางแก้ปัญหาที่อิงธรรมชาติเป็นหลัก
โครงการนี้ได้ใช้กล้องอินฟราเรด อุปกรณ์เฝ้าติดตามเสียง ระบบคลาวด์ และเอไอ เพื่อรวบรวม ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลเสียงและภาพที่มอบความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิต 25 สายพันธุ์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเสือจากัวร์อเมริกาเหนือที่ใกล้สูญพันธุ์ และยังเป็นตัวชี้วัดถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศทั้งหมด โดยข้อมูลที่รวบรวมมานั้นถูกนำไปประมวลผลบนแพลตฟอร์มโมเดลอาร์ตส์ เอไอ (ModelArts AI) ของหัวเว่ย และแพลตฟอร์มอาร์บิมอน เอไอ (Arbimon AI) ของเรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน (Rainforest Connection)
"เราจำเป็นต้องอัปโหลดข้อมูลดังกล่าวไปยังแพลตฟอร์มบิ๊กดาต้า เนื่องจากข้อมูลมีปริมาณมหาศาล" วาคีน ซัลดานา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การตลาดของหัวเว่ย ลาตินอเมริกา กล่าว "เราจำเป็นต้องประมวลผลข้อมูลด้วยเอไอและใช้ความเร็วสูง จากนั้นเราจึงได้เริ่มเข้าใจข้อมูลและตรวจเจอสัตว์ที่เราสนใจได้"
สำหรับพันธมิตรของโครงการนี้นอกเหนือจากซีไมนด์สและหัวเว่ยสาขาเม็กซิโกแล้ว ยังมีไอยูซีเอ็น มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งยูกาตัน (Polytechnic University of Yucatan) เรนฟอเรสต์ คอนเนกชัน หน่วยงานรัฐบาลประจำรัฐยูกาตัน และกลุ่มชุมชนในท้องถิ่น
หัวเว่ยและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ได้ร่วมกันเปิดตัวโครงการความร่วมมือเทคฟอร์เนเจอร์ ระยะเวลา 3 ปี เมื่อปี 2563 เพื่อประเมินประสิทธิภาพด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเทียบกับมาตรฐานของบัญชีสีเขียวไอยูซีเอ็น (IUCN Green List) โครงการเทคฟอร์เนเจอร์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเทคฟอร์ออล ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มที่มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมและความยั่งยืนในโลกดิจิทัลของหัวเว่ย