ผลสำรวจภูมิทัศน์สื่อประจำปี 2566 ของซิชัน (Cision) เผยความถูกต้องและการรักษาความน่าเชื่อถือในฐานะที่เป็นแหล่งข่าวที่ไว้ใจได้ เป็นเรื่องที่นักข่าวรู้สึกกังวลเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากกระแสความนิยมแชตจีพีที (ChatGPT) และปัญญาประดิษฐ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มว่า จะทำให้วงการสื่อเผชิญกับปัญหาท้าทายมากยิ่งขึ้น
ซิชัน (Cision) ได้เผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในรายงานสำรวจภูมิทัศน์สื่อ (State of the Media Report) ฉบับที่ 14 ซึ่งชี้ให้เห็นว่า "การเช็คให้ชัวร์ว่าเนื้อหาถูกต้อง" เป็นสิ่งที่นักข่าวให้ความสำคัญที่สุ ด(58%) และเป็นสิ่งที่นักข่าวมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรของตน (43%) ขณะที่นักข่าวกว่า 1 ใน 4 (27%) มองว่า ปัญหาท้าทายที่สำคัญที่สุดคือการรักษาความน่าเชื่อถือในฐานะที่เป็นแหล่งข่าวที่วางใจได้ นอกจากนี้ นักข่าวในการสำรวจยังมองว่า นักข่าวรุ่นใหม่ควรลด "ความลำเอียง" และรู้จักแยก "ข้อเท็จจริงออกจากข้อคิดเห็น"
พัตนีย์ คลูส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของซิชัน กล่าวว่า นักข่าวต่างมองหาข้อมูลที่วางใจได้ รวมถึงแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเที่ยงตรง โดยมองหาสิ่งเหล่านี้มากกว่าที่เคย ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้และควรเข้ามาช่วย เพราะเมื่อทำงานร่วมกันแล้ว นักข่าวและผู้สื่อสารก็จะปกป้องและยกระดับวงการข่าวในช่วงเวลาที่กำลังเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้
รายงานสำรวจภูมิทัศน์สื่อฉบับล่าสุดนี้ยังได้ขอให้ผู้ตอบแบบสำรวจร่วมแชร์มุมมองเกี่ยวกับอนาคตของวงการสื่อด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รายงานนี้ได้สอบถามในประเด็นดังกล่าว โดยมีประเด็นหลัก ๆ อยู่ที่การรักษาความถูกต้อง ลดความลำเอียง และการปรับตัวให้สอดรับกับวงการข่าวที่นับวันต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและข้อมูลมากขึ้น ซึ่งนักข่าวหลายรายยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับโอกาสและภัยที่แอบแฝงมากับเอไอ ดังนี้
- "นวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น แชตจีพีที จะไม่หยุดที่เพียงเท่านี้ และนักข่าวที่ไม่ยอมเปิดรับจะเสียเปรียบ"
- "เมื่อเอไอเขียนข้อมูลต่าง ๆ ได้ดีมาก นักข่าวจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่ออาศัยเรื่องที่ต้องใช้มนุษย์ทำได้ดีเท่านั้น เช่น การบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัว และการหาข้อสรุปจากชุดข้อมูลและแนวโน้มข้อมูลต่าง ๆ ในแบบฉบับของตนเอง"
- "?รู้จักใช้เอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI) เพื่อปรับปรุงงานให้ดีขึ้น และตรงประเด็นอยู่เสมอ"
นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามในเรื่องวิวัฒนาการของข้อมูลและโซเชียลมีเดีย พบว่า นักข่าว 40% เปิดเผยว่า ตนหันไปพึ่งพาข้อมูลมากขึ้นในปีนี้ และนักข่าว 66% เปิดเผยว่า การให้ข้อมูลและช่องทางในการติดต่อผู้เชี่ยวชาญ เป็นวิธีการหนึ่งที่นักติดต่อสื่อสารเข้ามาช่วยให้นักข่าวทำงานได้ง่ายขึ้น
นักข่าวเล็งเพิ่มกลุ่มผู้อ่านบนลิงด์อิน (LinkedIn) และอินสตาแกรม (Instagram) ในปีหน้า ขณะเดียวกันก็มีแผนพึ่งพาทวิตเตอร์ (Twitter) ลดลง อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ สืบเนื่องจากที่ทวิตเตอร์มีผู้นำคนใหม่ นอกจากนี้ นักข่าวมีแผนใช้อินสตาแกรม ติ๊กต๊อก (TikTok) และยูทูบ (YouTube) มากขึ้น เพราะช่องทางเหล่านี้เป็นที่นิยมมากขึ้น
รายงานฉบับนี้ได้สอบถามความคิดเห็นของนักข่าวกว่า 3,100 คนจากตลาด 17 แห่งทั่วโลก ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้สะท้อนให้เห็นความกังวลของนักข่าวในเรื่องความถูกต้องของข่าวสารและคอนเทนต์ต่าง ๆ รวมถึงปัญหาที่นักข่าวพบเจอในแต่ละวันเพื่อจัดการกับการให้ข้อมูลผิด ๆ