กระทรวงคมนาคมและโลจิสติกส์แห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียตั้งเป้าเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของโลก พร้อมเผยยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาภาคการคมนาคมและโลจิสติกส์ของประเทศ รวมทั้งตอบสนองความต้องการด้านบริการโลจิสติกส์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ปี 2573 (Vision 2030)
ดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพโลจิสติกส์ (Logistics Performance Indexหรือ LPI) ประจำปี 2566 ที่ธนาคารโลกเผยแพร่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยกระโดดขึ้นถึง 17 ขั้น จากอันดับ 55 ในปี 2561 มาอยู่ที่อันดับ 38 ในปีนี้
เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทรงให้การสนับสนุนความพยายามของราชอาณาจักรในทิศทางดังกล่าว โดยทรงเปิดตัวโครงการหลายโครงการที่ครอบคลุมและให้ความสำคัญกับงานด้านต่าง ๆ ของภาคการคมนาคมและโลจิสติกส์ ซึ่งรวมถึงการประกาศยุทธศาสตร์การคมนาคมและโลจิสติกส์แห่งชาติ (National Transport and Logistics Strategy หรือ NTLS) ในปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถของมนุษย์และความสามารถทางเทคนิคในภาคการคมนาคมและโลจิสติกส์ของราชอาณาจักร
โครงการเหล่านี้มีเป้าหมายที่จะผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียกลายเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ระดับโลก เนื่องด้วยที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ โดยเชื่อมระหว่างสามทวีป ได้แก่ ยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีความได้เปรียบในการเป็นทางผ่านที่เอื้อต่อการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามทวีป นอกจากนี้ การตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าเอเชีย-ยุโรป ยังทำให้ในแต่ละปีมีตู้คอนเทนเนอร์สินค้าจากทั่วโลกราว 12% ถูกขนส่งผ่านซาอุดีอาระเบีย
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียกำลังเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้ถอยห่างจากการพึ่งพาน้ำมันไปสู่การสร้างระบบนิเวศเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและเป็นองค์รวมมากขึ้น ปัจจุบัน ภาคโลจิสติกส์คิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2573 หรือคิดเป็นมูลค่าราว 2.01 หมื่นล้านริยาล
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบรรทุกสินค้าและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้ดียิ่งขึ้น ซาอุดีอาระเบียได้ประกาศเปิดเขตโลจิสติกส์ 59 แห่ง ภายในปี 2573 โดยขณะนี้เปิดดำเนินการแล้ว 21 แห่ง นอกจากนั้นยังมีการเปิดเขตโลจิสติกส์พิเศษแบบบูรณาการ (Special Integrated Logistics Zone) แห่งแรกที่ท่าอากาศยานนานาชาติคิงคาลิดในกรุงริยาด โดยมาตรการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งภายใต้กลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ ดึงดูดการลงทุน และเพิ่มรายได้ที่ไม่ได้มาจากน้ำมันให้ได้ราว 4.5 หมื่นล้านริยาลภายในปี 2573