สัตวแพทย์ในสังกัดรัฐบาลสหรัฐและทั่วโลกเปิดเผยว่า วัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ที่กำลังทดสอบในเวียดนาม ใกล้จะได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการรับมือกับโรคสัตว์ร้ายแรงที่มักสร้างความเสียหายให้กับฟาร์มสุกรทั่วโลก
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า โรค ASF ส่งผลกระทบต่อตลาดเนื้อสุกรทั่วโลกมูลค่า 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐมาเป็นระยะเวลานานหลายปี โดยในการระบาดครั้งเลวร้ายที่สุดเมื่อปี 2561 - 2562 นั้น จำนวนสุกรในจีนล้มตายลงถึงครึ่งหนึ่ง โดยจีนเป็นผู้ผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งผลให้เกิดความเสียหายมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายเกรกอริโอ ตอร์เรส หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ประจำองค์การอนามัยสัตว์โลก (WOAH) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หลังจากความพยายายามล้มเหลวมาหลายทศวรรษ เนื่องมาจากความซับซ้อนของเชื้อไวรัส ASF ในที่สุดวัคซีน 2 ชนิดที่นักวิทยาศาสตร์สหรัฐร่วมพัฒนาและกำลังทดสอบในโครงการนำร่องขนาดใหญ่โดยบริษัทต่าง ๆ ในเวียดนาม ก็ได้แสดงผลลัพธ์ในเชิงบวก
"เราไม่เคยเข้าใกล้จุดที่วัคซีนจะใช้ได้ผลเช่นนี้มาก่อน" นายตอร์เรสกล่าว พร้อมระบุว่า วัคซีน 2 ชนิดดังกล่าวมีโอกาสสูงมากที่จะประสบความสำเร็จ และได้รับอนุญาตให้จำหน่ายทั่วโลก
วัคซีนทั้ง 2 ชนิดได้รับการอนุมัติให้ใช้นำร่องในเชิงพาณิชย์ในเวียดนาม เนื่องจากถูกโรค ASF คุกคามบ่อยครั้ง และไม่สามารถพัฒนาในสหรัฐได้ เนื่องจากไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวในสหรัฐ
ขณะนี้โครงการนำร่องเสร็จสิ้นลงแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการอนุญาตให้ใช้ได้ทั่วประเทศ และมีโอกาสที่จะวางขายในต่างประเทศ โดยนับเป็นวัคซีนป้องกันโรค ASF ชนิดแรกของโลก ในรายงานของ WOAH ที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2564 มีรายงานโรค ASF ในเกือบ 50 ประเทศ และทำให้สุกรล้มตายประมาณ 1.3 ล้านตัว โดยโรค ASF ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์