ไชน่า โมบาย (China Mobile) คว้าอันดับหนึ่งในรายงานประเมินมาตรฐานกลยุทธ์ดิจิทัลของผู้ให้บริการประจำปี 2566 โดยออมเดีย (Omdia) ซึ่งให้คะแนนกลยุทธ์ดิจิทัลของกลุ่มผู้ให้บริการรายใหญ่ทั่วโลก 12 กลุ่ม ในช่วงเวลาที่รูปแบบธุรกิจผู้ให้บริการการสื่อสารที่จัดตั้งขึ้นนั้นอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้น
ไชน่า โมบาย มีคะแนนนำในเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าวด้วยคะแนน 27.5 คะแนนจากสูงสุด 35 คะแนน ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการใช้บรอดแบนด์ความเร็วสูงและใช้โครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเป็นแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนาบริการใหม่ ๆ ขณะที่เอสเค เทเลคอม (SK Telecom) มีคะแนนอยู่ในอันดับสอง โดยพิจารณาจากแรงผลักดันในการปรับปรุงธุรกิจในฐานะบริษัทเอไอและพัฒนาบริการในด้านใหม่ ๆ เช่น เมตาเวิร์สและระบบการขนส่งทางอากาศ ส่วนเอ็นทีที โดโคโม (NTT Docomo) อยู่ในอันดับที่สี่ด้วยจุดแข็งในด้านเทคโนโลยีและบริการดิจิทัล
ดาริโอ ทัลเมซิโอ ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยกลยุทธ์และกฎระเบียบผู้ให้บริการของออมเดียกล่าวว่า ผู้ให้บริการในเอเชียตะวันออกติด 3 ใน 4 อันดับแรกของเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ให้บริการในภูมิภาคนี้อยู่ในกลุ่มผู้ให้บริการที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก"และเสริมว่า "ไชน่า โมบาย กำลังแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วอย่างน่าประทับใจ ซึ่งขณะนี้บริการด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีสัดส่วนมากกว่า 25% ของรายได้จากการให้บริการ ซึ่งไชน่า โมบาย กำลังปรับเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วให้กลายเป็นผู้ให้บริการเทคโค (TechCo) ด้วยบริการดิจิทัลที่หลากหลายนอกเหนือจากการเชื่อมต่อ
นอกจากนี้ อีแอนด์ (e&) หรือชื่อเดิมเอทิซาลัต (Etisalat) ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งได้รับการประเมินเป็นครั้งแรกในเกณฑ์มาตรฐานฉบับนี้ อยู่ในอันดับที่ห้าร่วมกับเทเลโฟนิกา
แมทธิว รีด หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดผู้ให้บริการของออมเดียกล่าวว่า การปรากฏตัวอย่างแข็งแกร่งของอีแอนด์นั้นอาศัยกลยุทธ์ใหม่ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี 2565 ในการปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นกลุ่มเทคโนโลยีและการลงทุนระดับโลก ซึ่งมีการดำเนินกลยุทธ์อย่างจริงจัง
ขณะเดียวกัน บาร์ติ แอร์เทล (Bharti Airtel) อยู่ในอันดับที่ 7 ในเกณฑ์มาตรฐานปี 2566 ขยับขึ้นจากอันดับที่ 9 ในปี 2565 หลังจากแอร์เทลเปิดตัว 5G ในอินเดียเมื่อปลายปี 2565 และยังคงเดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง