สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประชาชนหลายหมื่นคนกำลังเร่งอพยพออกจากบ้านเรือน เนื่องจากอินเดียและปากีสถานมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนบีปอร์จอย (Biparjoy) ซึ่งคาดว่าจะบุกขึ้นฝั่งในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในอินเดียและปากีสถานในวันพฤหัสบดี (15 มิ.ย.) ส่งผลให้ชีวิตของผู้คนนับล้านตกอยู่ในความเสี่ยง
พายุบีปอร์จอยเคลื่อนตัวข้ามพื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลอาหรับ มุ่งหน้าสู่ปากีสถานตอนใต้และพื้นที่ฝั่งตะวันตกของอินเดียตั้งแต่เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ด้วยความเร็วลม 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง (100 ไมล์/ชั่วโมง) และอาจทวีกำลังแรงขึ้นถึง 195 กิโลเมตร/ชั่วโมง (121 ไมล์/ชั่วโมง) อย่างไรก็ตาม พายุบีปอร์จอยได้อ่อนกำลังลงเล็กน้อยเมื่อวันอังคาร (13 มิ.ย.) โดยมีความเร็วลมต่อเนื่องอยู่ที่ 150 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเทียบได้กับพายุเฮอริเคนระดับ 1
เจ้าหน้าที่ปากีสถานระบุว่า การอพยพครั้งใหญ่เริ่มต้นขึ้นในรัฐซินด์ของปากีสถาน โดยประชาชนราว 60,000 คนถูกส่งไปอยู่ในศูนย์หลบภัยชั่วคราว ขณะที่กลุ่มฝุ่นละอองได้ปกคลุมพื้นที่บางส่วนของรัฐ ทำให้ทัศนวิสัยลดลงและส่งผลกระทบต่อการหายใจของผู้คนจำนวนมาก
ขณะที่เมืองการาจี ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดของปากีสถาน โดยมีประชากร 22 ล้านคน ได้ปิดห้างสรรพสินค้าและระงับกิจการต่าง ๆ ตามแนวชายฝั่งเรียบร้อยแล้ว
ด้านสายการบินปากีสถานอินเตอร์เนชันแนล (PIA) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของปากีสถาน ได้ดำเนินมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า รวมทั้งปฏิบัติการรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตหรืออุปกรณ์
ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) คาดการณ์ว่า พายุลูกดังกล่าวจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งตอนบ่ายโมงของวันพรุ่งนี้ตามเวลาท้องถิ่น จนส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และคลื่นพายุซัดฝั่งทั่วภูมิภาค
นายอลก กุมาร ปานเด กรรมาธิการบรรเทาทุกข์ของรัฐคุชราตของอินเดียระบุว่า ประชาชนราว 21,000 คนในรัฐคุชราตได้รับการอพยพออกจากพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง และได้มีการเคลื่อนย้ายปศุสัตว์ไปยังพื้นที่สูง พร้อมทั้งมีการสั่งงดการเรียนการสอนและการทำประมงแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีการเตือนภัยฝนตกหนักทางตอนเหนือของรัฐคุชราต โดยปริมาณน้ำฝนทั้งหมดอาจสูงถึง 10 นิ้ว ซึ่งอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม