สำนักข่าวเดอะการ์เดียนรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์ (synthetic human embryos) จากสเต็มเซลล์ได้สำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ไข่หรือสเปิร์ม
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการพัฒนาครั้งนี้จะช่วยให้เราเข้าใจโรคทางพันธุกรรมและสาเหตุของการแท้งบุตรซ้ำได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี ผลงานดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามด้านจริยธรรมและกฎหมาย เนื่องจากตัวอ่อนที่ผลิตในห้องแล็บเหล่านี้ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายในประเทศส่วนใหญ่
ตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์เหล่านี้ไม่มีหัวใจหรือสมอง แต่มีเซลล์ที่สามารถพัฒนากลายเป็นรก ถุงไข่แดง และตัวอ่อนได้ในที่สุด
ศาสตราจารย์มักดาเลนา เชอร์นิกกา-เกิทซ์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย ได้บรรยายผลงานการค้นพบครั้งนี้ในการประชุมประจำปีของสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยสเต็มเซลล์ ในรัฐบอสตัน ประเทศสหรัฐ เมื่อวานนี้ (14 มิ.ย.)
ในตอนนี้ ตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์เหล่านี้จะไม่ถูกนำมาใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ การใส่ตัวอ่อนดังกล่าวเข้าไปในครรภ์ของผู้หญิงถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และยังไม่มีความชัดเจนว่าตัวอ่อนเหล่านี้สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้นอกเหนือจากระยะแรก ๆ ของการพัฒนาหรือไม่
ความก้าวหน้าครั้งนี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจช่วงเวลาแห่งการพัฒนาในระยะแรก ซึ่งเรียกว่าช่วง "กล่องดำ" เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์เพาะตัวอ่อนในห้องทดลองได้ไม่เกิน 14 วัน จากนั้นจึงต้องอาศัยการสแกนการตั้งครรภ์หรือตัวอ่อนที่ได้รับบริจาคเพื่อทำการศึกษาต่อไป
ผลงานก่อนหน้านี้ของทีมเชอร์นิกกา-เกิทซ์ และกลุ่มคู่แข่งที่สถาบันไวซ์มันน์ในอิสราเอล ได้แสดงให้เห็นว่าสเต็มเซลล์จากหนูสามารถกระตุ้นให้ประกอบตัวเองเป็นโครงสร้างคล้ายตัวอ่อนระยะแรกที่มีลำไส้ จุดเริ่มต้นของสมองและหัวใจเต้น ซึ่งผลงานดังกล่าวทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างนักวิจัยเพื่อนำผลการวิจัยเหล่านี้ไปใช้กับแบบจำลองของมนุษย์
ทั้งนี้ รายละเอียดทั้งหมดของงานวิจัยตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์นี้ยังไม่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร
อย่างไรก็ดี เกิดเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่า ในทางทฤษฎีแล้วตัวอ่อนมนุษย์สังเคราะห์เหล่านี้สามารถเติบโตเป็นสิ่งมีชีวิตได้หรือไม่ โดยการทดสอบกับเซลล์ของหนูและลิงพบว่า เมื่อฝังตัวอ่อนสังเคราะห์เข้าไปในมดลูกของตัวเมียแล้ว ไม่มีตัวใดที่พัฒนาเป็นสัตว์ที่มีชีวิตต่อไปได้