ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์ คูเปอร์ส (PwC) บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกเปิดเผยผลสำรวจล่าสุดพบว่า พนักงาน 25% คาดว่าจะเปลี่ยนงานในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งเพิ่มขึ้น 19% จากปีที่แล้ว เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ
"การสำรวจความหวังและความกลัวในแรงงานทั่วโลกประจำปี 2566" (2023 Hopes and Fears Global Workforce Survey) ของ PwC ซึ่งสำรวจพนักงาน 54,000 คนใน 46 ประเทศทั่วโลกพบว่า แม้ว่ากระแสการลาออกจากงานครั้งใหญ่ยังคงดำเนินอยู่ แต่พนักงานประมาณ 42% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 35% เมื่อปีที่แล้วนั้นกล่าวว่า พวกเขากำลังวางแผนเรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงเพื่อรับมือกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น
พนักงานประมาณ 46% กล่าวว่า ครอบครัวของพวกเขาประสบความเดือดร้อนในการชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในทุก ๆ เดือน หรือไม่มีเงินมากเพียงพอที่จะชำระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ได้
ส่วนพนักงาน 38% ระบุว่า พวกเขามีเงินเหลือใช้จนถึงสิ้นเดือน ซึ่งน้อยกว่าระดับ 47% ของปีที่แล้ว นอกจากนี้ พนักงานราว 20% กล่าวว่าทำงานหลายงาน ซึ่ง 69% ของพนักงานกลุ่มนี้กล่าวว่า ต้องการทำงานมากขึ้นเพื่อหารายได้เพิ่ม
"ด้วยความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่กำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง เราพบว่าพนักงานทั่วโลกต้องการค่าแรงมากขึ้น และต้องการเป็นที่ยอมรับหรือได้รับการมองเห็นคุณค่าในที่ทำงานของพวกเขา" นายภูชาน เสธี ผู้นำร่วมระดับโลกฝ่ายบุคคลและองค์กรของ PwC กล่าว
ผลสำรวจยังพบอีกว่า "วัตถุประสงค์ วัฒนธรรมองค์กร และความหลากหลาย" ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่สร้างความกังวลให้กับพนักงาน
พนักงานที่มีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายจะรับมือกับความท้าทายในอนาคตได้น้อยลง รวมถึงการลงทุนในการพัฒนาทักษะใหม่ ๆ และการปรับตัวให้เข้ากับกระแสการใช้งานปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ที่กำลังเพิ่มมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน กว่า 33% ของกลุ่มพนักงานที่มีสถานะการเงินดีขึ้นระบุว่า เอไอจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงาน และ 25% กล่าวว่า เอไอจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการทำงาน
สำหรับพนักงานที่อายุยังน้อย รวมไปถึงกลุ่มเจนซี (Gen Z) และกลุ่มเจนวาย (Gen Y) หรือมิลเลนเนียล (Millennials) ซึ่งเกิดหลังปี 2524 นั้น ผลสำรวจพบว่า เอไอจะสร้างผลดีให้กับอาชีพการงานของพวกเขาในช่วง 5 ปีข้างหน้า