หน่วยงานกำกับดูแลด้านไซเบอร์ของออสเตรเลียระบุในวันพฤหัสบดี (22 มิ.ย.) ว่า ได้เรียกร้องให้ทวิตเตอร์ชี้แจงด้านการจัดการกับความเกลียดชังทางออนไลน์ หลังจากที่ทวิตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดในประเทศ นับตั้งแต่นายอีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นเจ้าของคนใหม่ของทวิตเตอร์ได้ยกเลิกการแบนบัญชีผู้ใช้ที่ถูกร้องเรียน 62,000 บัญชี
การเรียกร้องดังกล่าวมีขึ้นจากการรณรงค์โดยคณะกรรมาธิการอีเซฟตี้ (eSafety) เพื่อให้ทวิตเตอร์แสดงความรับผิดชอบมากขึ้น หลังจากที่นายมัสก์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เข้าซื้อทวิตเตอร์เมื่อเดือนต.ค. 2565 พร้อมกับการให้คำมั่นว่าจะฟื้นฟูเสรีภาพในการพูด
หน่วยงานกำกับดูแลได้เรียกร้องให้ทวิตเตอร์ส่งมอบรายละเอียดข้อมูลว่า ทางแพลตฟอร์มจัดการเกี่ยวกับปัญหาการทารุณกรรมเด็กทางออนไลน์อย่างไร ซึ่งมีการรายงานว่ามีการร้องเรียนในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่นายมัสก์เข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ โดยมีการเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก รวมทั้งแผนกที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเนื้อหาด้วย
นางจูลี อินแมน แกรนท์ หนึ่งในคณะกรรมการอีเซฟตี้กล่าวว่า เธอได้ยื่นหนังสือบอกกล่าวทางกฎหมายไปยังทวิตเตอร์ เพื่อเรียกร้องให้มีการอธิบาย เนื่องจากประเด็นด้านความเกลียดชังทางออนไลน์มีมากถึงหนึ่งในสามของข้อร้องเรียนทั้งหมดเกี่ยวกับทวิตเตอร์ที่เธอได้รับ แม้ว่าทวิตเตอร์จะมีผู้ใช้งานน้อยกว่าติ๊กต๊อก หรือเฟซบุ๊ก และอินสตาแกรมก็ตาม
"ดูเหมือนว่าทวิตเตอร์จะล้มเลิกกับการจัดการด้านความเกลียดชังไปแล้ว" นางอินแมน แกรนท์ เปิดเผยในแถลงการณ์ ซึ่งระบุว่า มีรายงานว่าทวิตเตอร์ได้ยกเลิกการแบนบัญชี 62,000 บัญชี นับตั้งแต่นายมัสก์เป็นเจ้าของทวิตเตอร์ ในจำนวนนี้รวมถึงบัญชีของบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนที่ใช้วาทกรรมเกี่ยวกับนาซีในการจูงใจผู้คน
"เราต้องการการแสดงความรับผิดชอบจากแพลตฟอร์มเหล่านี้ และการดำเนินการเพื่อปกป้องผู้ใช้งานของพวกเขา คุณไม่สามารถมีความรับผิดชอบได้ หากคุณขาดความโปร่งใส และนั่นคือจุดประสงค์ที่หนังสือบอกกล่าวทางกฎหมายฉบับนี้ต้องการให้มันบรรลุผล" นางอินแมน แกรนท์ กล่าว
ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ต้องตอบกลับไปยังคณะกรรมการอีเซฟตี้ภายใน 28 วัน มิฉะนั้นจะถูกปรับเป็นเงินเกือบ 700,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (473,480 ดอลลาร์สหรัฐ) ต่อวัน