สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) กล่าวว่า แผนการของญี่ปุ่นในการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกิชิมะ ไดอิจิ ที่ได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิลงสู่มหาสมุทรนั้น เป็นไปตามมาตรฐานสากล และจะส่งผลกระทบ "เพียงเล็กน้อย" ต่อสิ่งแวดล้อม
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ กำลังเผชิญปัญหาพื้นที่กักเก็บน้ำไม่เพียงพอสำหรับใช้ในการหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยญี่ปุ่นยังไม่ได้ประกาศแผนการดังกล่าว เพราะยังต้องได้รับการอนุมัติขั้นสุดท้ายจากหน่วยงานกำกับดูแล
ทั้งนี้ จีนและเกาหลีใต้ต่างคัดค้านแผนการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลดังกล่าว
เมื่อปี 2554 คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด ได้ไหลทะลักเข้าท่วมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตาของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ซึ่งนับเป็นภัยพิบัติด้านนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติเชอร์โนบิล
รายงานระบุว่า ประชาชนมากกว่า 150,000 คน ถูกอพยพออกจากพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นต้องเสียเงินจำนวนหลายล้านล้านเยนในการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลานานถึง 40 ปี
ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นได้เริ่มกระบวนการรื้อถอนทำลายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้แล้ว แต่กระบวนการอาจกินเวลานานหลายสิบปี