ศูนย์พยากรณ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติของสหรัฐเปิดเผยว่า วันจันทร์ที่ 3 ก.ค. 2566 เป็นวันที่ร้อนที่สุดที่เคยบันทึกไว้ทั่วโลก
รายงานระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 17.01 องศาเซลเซียส ซึ่งสูงกว่าสถิติสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนส.ค. 2559 ที่ 16.92 องศาเซลเซียส ขณะที่คลื่นความร้อนได้แผดเผาไปทั่วโลก
ทางตอนใต้ของสหรัฐต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ในประเทศจีน คลื่นความร้อนยังคงดำเนินต่อไป โดยมีอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส ส่วนแอฟริกาเหนือมีอุณหภูมิใกล้ 50 องศาเซลเซียส
นอกจากนี้ ทวีปแอนตาร์กติกาซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูหนาวก็มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ ฐานวิจัยแวร์นาดสกี (Vernadsky) ของยูเครนในหมู่เกาะอาร์เจนติน ทวีปแอนตาร์กติกา ได้ทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในเดือนก.ค.ที่ 8.7 องศาเซลเซียส
"นี่ไม่ใช่เป้าหมายที่เราควรจะเฉลิมฉลอง" ฟรีเดอริก ออตโต นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ สถาบันแกรนแธมแห่งวิทยาลัยแห่งอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอนกล่าว "มันคือโทษประหารชีวิตสำหรับผู้คนและระบบนิเวศ"
บรรดานักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า สาเหตุดังกล่าวเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้น
ซีค เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสภาพอากาศเบิร์กลีย์ เอิร์ธระบุในแถลงการณ์ว่า "นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสถิติคลื่นความร้อนและอุณหภูมิที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ เนื่องจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทวีความรุนแรงขึ้นนั้น จะทำให้อุณหภูมิสูงพุ่งสูงขึ้นทำนิวไฮต่อเนื่อง"