สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังวางแผนที่จะปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) อย่างเร็วที่สุดในเดือนส.ค. หลังจากได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ซึ่งเป็นหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (UN)
IAEA ได้ดำเนินการทบทวนเรื่องดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี และแถลงเมื่อวานนี้ (4 ก.ค.) ว่า แผนการปล่อยน้ำของญี่ปุ่นนั้น สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระดับโลก นับเป็นก้าวสำคัญในกระบวนการรื้อถอนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะซึ่งได้รับความเสียหายอย่างหนักจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2554
แม้ว่าก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่นตั้งใจจะเริ่มสูบน้ำลงสู่มหาสมุทรในช่วงระหว่างฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ยังไม่สามารถระบุวันที่ปล่อยน้ำแน่นอนได้ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์แห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดในสัปดาห์นี้
เมื่อ IAEA รับรองแผนการแล้ว นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ผู้นำญี่ปุ่น ได้แสดงเป้าหมายเพื่อให้แผนการปล่อยน้ำได้รับการยอมรับทั้งจากภายในและต่างประเทศ
สหภาพแรงงานประมงในท้องถิ่นของญี่ปุ่นแสดงความกังวลและคัดค้านแผนดังกล่าวมานานแล้ว เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าการปล่อยน้ำลงสู่ทะเลอาจทำให้ความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นล้มเหลว หลังจากที่มีหลายประเทศสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารญี่ปุ่นบางชนิดเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสารกัมมันตรังสี
อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นยืนยันว่า น้ำได้ผ่านการกรองเพื่อกำจัดธาตุกัมมันตรังสีส่วนใหญ่ ยกเว้นทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปไฮโดรเจนที่แยกออกจากน้ำได้ยาก แต่ถึงกระนั้น น้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจะถูกเจือจางให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าระดับไอโซโทปมาตรฐานที่ได้รับการอนุมัติในระดับสากลเพื่อไม่ให้เป็นอันตราย ก่อนที่จะปล่อยลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก