เกาหลีใต้กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนกุมารแพทย์ โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก จึงทำให้โรงพยาบาลต่าง ๆ มีแพทย์แผนกกุมารเวชไม่เพียงพอ ซึ่งไปเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพเด็ก
สถาบันโซล ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองด้านการบริหารรัฐกิจ ระบุว่า จำนวนคลินิกและโรงพยาบาลเด็กในกรุงโซลลดลง 12.5% ในช่วงปี 2560-2565 เหลือเพียง 456 แห่ง ในช่วงเวลาเดียวกัน จำนวนคลินิกจิตเวชเพิ่มขึ้น 76.8% และศูนย์วิสัญญีวิทยาเพิ่มขึ้น 41.2%
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างอิงจากการสัมภาษณ์กุมารแพทย์ 7 รายว่า ต้นตอของปัญหาอยู่ที่อัตราการเกิดที่ลดลงเหลือ 0.78 ในปี 2565 ซึ่งเป็นจำนวนทารกโดยเฉลี่ยที่คาดหวังต่อผู้หญิง 1 คน บวกกับระบบประกันที่ไม่สามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวได้ ทำให้กุมารเวชศาสตร์ขาดแคลนทรัพยากร และยังทำให้แพทย์ต่างหลีกเลี่ยงสาขานี้ เนื่องจากเชื่อว่าเป็นสาขาการแพทย์ที่ไม่มีอนาคต
ด้านกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการเกาหลีใต้ตระหนักถึงข้อจำกัดในระบบและกำลังดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา
ตามข้อมูลของกระทรวงฯ โรงพยาบาลสามารถจ้างกุมารแพทย์ได้เพียง 16.3% ของจำนวนที่ต้องการในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ลดลงจาก 97.4% ในปี 2556
การขาดแคลนกุมารแพทย์ดังกล่าวย่อมหมายความว่าผู้ปกครองต้องรอเป็นเวลานานกว่าลูกของตนจะได้รับการรักษา
นายแพทย์ซง แด-จิน แห่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกาหลีกูโรแสดงความกังวลว่า การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นี้อาจส่งผลให้เกิดปัญหาในการให้บริการฉุกเฉินในอนาคต