สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) อนุญาตให้นำเข้ายารักษาโรคมะเร็งเพิ่มเติมจากจีน ท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนยาทั่วประเทศ โดยภาวะขาดแคลนดังกล่าวทำให้แพทย์ต้องจำกัดการใช้ยา ซึ่งทำให้ชีวิตของผู้ป่วยตกในอยู่ความเสี่ยง
โฆษก FDA เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (10 ก.ค.) ว่า FDA ได้อนุญาตให้จัดจำหน่ายยาซิสพลาติน (Cisplatin) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดที่จำเป็นจากฉีลู่ ฟาร์มาซูติคอล โค (Qilu Pharmaceutical Co.) ของจีน เพิ่มเติมอีก 10 ล็อต
ก่อนหน้านี้ FDA ได้อนุญาตให้จัดจำหน่ายยาเคมีบำบัดของฉีลู่จำนวน 4 ล็อตในสหรัฐ แม้ว่ายาของฉีลู่จะไม่ได้รับการอนุมัติจาก FDA ก็ตาม
โฆษกของอาโพเท็กซ์ อิงค์ (Apotex Inc) บริษัทเวชภัณฑ์ผู้เป็นตัวแทนจัดจำหน่ายยาซิสพลาตินของฉีลู่ในสหรัฐ กล่าวว่า ยาชุดใหม่จำนวน 10 ล็อต จะมาถึงสหรัฐในสัปดาห์นี้
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ปัญหาการขาดแคลนยาซิสพลาตินในสหรัฐในปัจจุบันเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้ โดยเวลานั้นอินทัส ฟาร์มาซูติคอลส์ (Intas Pharmaceuticals) บริษัทเวชภัณฑ์ผู้ผลิตยาซิสพลาตินจำนวนมากที่ใช้ในสหรัฐ ได้ปิดโรงงานในอินเดีย หลังจากที่ FDA พบว่าคนงานทำลายเอกสาร และไม่นานหลังจากนั้น ยาคาร์โบพลาติน (Carboplatin) ซึ่งเป็นยาเคมีบำบัดอีกชนิดที่ใช้ทดแทนยาซิสพาตินเป็นบางครั้ง ก็ขาดตลาดเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ การขาดแคลนยาสามัญเช่นยาซิสพลาตินนับเป็นเรื่องปกติในสหรัฐ โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยาเหล่านี้สร้างเม็ดเงินได้ไม่มากพอที่จะจูงใจให้บริษัทยาลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานยาที่เชื่อถือได้
ข้อมูลจากบริการข้อมูลยาของมหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งติดตามกรณีดังกล่าว ระบุว่า การขาดแคลนยาอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ FDA ยังได้จัดทำบัญชีรายชื่อยารักษาโรคมะเร็งที่ขาดตลาดอย่างน้อย 9 รายการ