"Barbie" โดนดราม่าสนั่นก่อนฉายในญี่ปุ่น ปมกระแสมีม Barbenheimer

ข่าวต่างประเทศ Thursday August 3, 2023 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การเปิดตัวเข้าฉายภาพยนตร์บาร์บี้ (Barbie) ในญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาวุ่นวายอีกระลอก หลังจากที่นักพากย์ออกมาวิจารณ์วิธีทำการตลาดของภาพยนตร์สุดฮิตเรื่องนี้ และการที่นายราห์ม เอ็มมานูเอล เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่นร่วมโปรโมตภาพยนต์เรื่องดังกล่าวผ่านทางออนไลน์ ท่ามกลางกระแสต่อต้านการโปรโมตภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยการใช้มีมบาร์เบนไฮเมอร์ (Barbenheimer) ซึ่งถือเป็นการทำให้หายนะทางนิวเคลียร์กลายเป็นเรื่องไม่จริงจัง

บาร์บี้ ที่นำแสดงโดย มาร์โกต์ ร็อบบี้ (Margor Robbie) และสร้างโดยวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (Warner Bros) กวาดรายได้ไปแล้ว 800 ดอลลาร์สหรัฐจากทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากกระแสมีมบาร์เบนไฮเมอร์ (Barbenheimer) ที่จับคู่บาร์บี้เข้ากับออพเพนไฮเมอร์ (Oppenherimer) ภาพยนตร์ชีวประวัติฟอร์มยักษ์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเจ.โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างระเบิดนิวเคลียร์ ที่แสดงโดย คิลเลียน เมอร์ฟี (Cillian Murphy)

ปรากฏการณ์มีมบาร์เบนไฮเมอร์ เกิดจากการที่ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องมีความแตกต่างกันคนละขั้ว และมีกำหนดออกฉายในวันเดียวกัน โดยมีการล้อเลียนจนเป็นกระแสไวรัลไปทั่วโลออนไลน์ ตัวอย่างเช่น ภาพของตัวละครบาร์บี้และออพเพนไฮเมอร์ยืนคู่กันท่ามกลางฉากหลังที่เป็นระเบิดนิวเคลียร์ที่กำลังระเบิด

อย่างไรก็ตาม บรรดาแฟนภาพยนตร์ในญี่ปุ่นไม่พอใจกับกระแสการเล่นมีมดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นไม่กี่วันก่อนการครบรอบ 78 ปีการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ

แฮชแท็ก #NoBarbenheimer (ไม่เอาบาร์เบนไฮเมอร์) ติดเทรนด์บนโซเชียลมีเดียของญี่ปุ่น จนทำให้สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์สของญี่ปุ่นออกมาวิจารณ์วอร์เนอร์ บราเธอร์ที่เป็นบริษัทแม่อย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ก่อนจะมีการขอโทษในเวลาต่อมา

ทางด้านนางมิทสึกิ ทาคาฮาตะ ผู้พากย์เสียงตัวละครบาร์บี้ฉบับภาษาญี่ปุ่น ได้โพสต์อินสตาแกรมเมื่อวันพุธ (2 ส.ค.) ว่า รู้สึกผิดหวัง หลังจากได้รับรู้เรื่องการใช้มีมดังกล่าวเพื่อโปรโมตภาพยนตร์และตัดสินใจว่าจะไม่ไปร่วมงานอีเวนต์โปรโมตการเปิดตัวภาพยนตร์ในวันที่ 11 ส.ค. นี้

สำหรับภาพยนตร์เรื่องออพเพนไฮเมอร์ ซึ่งเป็นเรื่องราวของการสร้างระเบิดปรมาณูนั้น ไม่มีการประกาศวันออกฉายในญี่ปุ่น โดยภาพยนตร์ถูกวิจารณ์ในวงกว้างว่าไม่สนใจเรื่องที่ระเบิดปรมาณูทำลายฮิโรชิมาและนางาซากิในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 200,000 ราย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ