ศูนย์วิจัยเอเชีย รีเสิร์ช แอนด์ เอนเกจเมนต์ (Asia Research and Engagement) หรือ ARE ของสิงคโปร์เปิดเผยว่า การลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม อาจเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รายงานของ ARE ระบุว่า หากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องการลดโลกร้อน ทั้งภูมิภาคจะต้องลดการผลิตโปรตีนจากสัตว์ลง และเปลี่ยนไปบริโภคผลิตภัณฑ์จากพืช หรือโปรตีนทางเลือกอื่น ๆ แทน ภายในปี 2573
ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะต้องมีสัดส่วนการผลิตโปรตีนทางเลือกมากกว่าครึ่งหนึ่งของสัดส่วนการผลิตโปรตีนทั้งหมด ภายในปี 2603 เพื่อลดโลกร้อน
"การบรรลุเป้าหมายนี้จำเป็นต้องมีเม็ดเงินลงทุนและความพยายามอย่างต่อเนื่องจากอุตสาหกรรมอาหาร นักลงทุน และธนาคารต่าง ๆ ในเอเชีย" รายงานระบุ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การเลี้ยงปศุสัตว์ในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการบริโภคเนื้อสัตว์นั้น เป็นที่ทราบกันว่าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนในปริมาณมาก รวมถึงเป็นสาเหตุหลักของการตัดไม้ทำลายป่า และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะผู้ผลิตแผ้วถางป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ เช่น กากถั่วเหลือง หรือการสร้างฟาร์มแห่งใหม่
รายงานชี้ว่า การผลิตเนื้อสัตว์สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมมากกว่าการเพาะปลูกพืชทั้งหมดรวมกัน เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์นั้นใช้ทรัพยากรสูงกว่ามาก และใช้ที่ดินมากขึ้น จำนวนสัตว์ที่เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการใช้น้ำ และการใช้ยาปฏิชีวนะที่เพิ่มขึ้น
แม้ว่าประเด็นนี้จะเป็นปัญหาระดับโลก แต่เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย เนื่องจากเอเชียเป็นแหล่งอุปทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก รวมทั้งปศุสัตว์บก และอาหารทะเล นอกจากนี้ ภูมิภาคเอเชียยังเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการเติบโตของประชากรรวดเร็วที่สุด ซึ่งยิ่งเพิ่มการบริโภคเนื้อสัตว์
รายงานยังระบุด้วยว่า ในปี 2563 มาเลเซียและเวียดนามบริโภคโปรตีนทั้งจากเนื้อสัตว์และอาหารทะเลอยู่ที่ระหว่าง 8.9-12.3 กิโลกรัมต่อคน ซึ่งสูงกว่าที่คณะกรรมการอีเอที-แลนเซท (EAT-Lancet Commission) แนะนำที่ระดับ 5.1 กิโลกรัมต่อคน
ด้านนายเมิร์ต กอสเคอร์ กรรมการผู้จัดการของสถาบันอาหารดีแห่งเอเชียแปซิฟิก (Good Food Institute Asia Pacific) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่มุ่งเน้นเรื่องโปรตีนทางเลือกกล่าวกับสำนักข่าวซีเอ็นบีซีว่า "เรื่องนี้เป็นปัญหาที่บวกทวีคูณไปอีก เพราะถั่วเหลืองส่วนใหญ่ที่ใช้เลี้ยงปศุสัตว์ในเอเชียนั้นนำเข้ามาจากบราซิล อาร์เจนตินา และปารากวัย" ซึ่งทำให้การผลิตเนื้อสัตว์ยิ่งเพิ่มผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม