สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า จะพบกับชาวประมงท้องถิ่นในวันนี้ (21 ส.ค.) เพื่อปรับความเข้าใจเกี่ยวกับแผนของรัฐบาลในการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทร
แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีที่บำบัดแล้วปริมาณ 1.3 ล้านตัน เนื่องจากบริษัทโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ คอมพานี หรือเทปโก (TEPCO) ไม่มีพื้นที่เพียงพอเพื่อกักเก็บน้ำดังกล่าว ได้รับการคัดค้านจากสมาคมชาวประมงท้องถิ่น ตลอดจนผู้บริโภคในเกาหลีใต้ต่างแสดงความกังวล และทางการจีนได้สั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารจากร์ฟุกุชิมะเข้าประเทศเช่นกัน
นายคิชิดะแถลงต่อสื่อมวลชนเมื่อวานนี้ (20 ส.ค.) หลังเดินทางเยือนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ว่า "ผมต้องการพูดคุยกับชาวประมงโดยตรงถึงความตั้งใจของรัฐบาล"
นายคิชิดะกล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาความปลอดภัยในการปล่อยน้ำ นอกจากนี้ เขาเน้นย้ำว่า การปล่อยน้ำเป็นขั้นตอนสำคัญสำหรับกระบวนการรื้อถอนโรงงานฟุกุชิมะ ไดอิจิ และฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะ
รายงานระบุว่า เทปโกได้บำบัดน้ำปนเปื้อนเพื่อกำจัดไอโซโทปกัมมันตรังสี จนเหลือเพียงทริเทียม (T) ซึ่งเป็นไอโซโทปไฮโดรเจนที่กำจัดออกยาก โดยทางเทปโกจะเจือจางน้ำเพื่อให้ระดับทริเทียมอยู่ต่ำกว่าขีดจำกัดที่กฎหมายกำหนดไว้ ก่อนที่จะปล่อยน้ำลงมหาสมุทรแปซิฟิก
ทั้งนี้ หน่วยงานควบคุมนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นได้อนุมัติแผนดังกล่าว หลังจากที่สำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (IAEA) ได้อนุมัติแผนการนี้ของญี่ปุ่นเมื่อเดือนที่แล้ว หลังจากทำการประเมินมาเป็นเวลา 2 ปี