กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านนิวเคลียร์ได้รวมตัวกันหน้าสำนักนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในวันนี้ (22 ส.ค.) เพื่อคัดค้านการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในวันพฤหัสบดีนี้ (24 ส.ค.)
กลุ่มนักเคลื่อนไหวฯ ระบุว่า มีประชาชนราว 230 คนเข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นฟังเสียงของกลุ่มชาวประมง และอย่าปล่อย "น้ำปนเปื้อน" ลงสู่ทะเล หลังจากที่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ประกาศว่าจะเริ่มปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วในวันพฤหัสบดีนี้ (24 ส.ค.)
นายมาซาชิ ทานิ ผู้อำนวยการของสภาญี่ปุ่นฝ่ายต่อต้านระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน (Japan Council against Atomic and Hydrogen Bombs) กล่าวว่า "เราไม่รู้ว่าการปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลจะใช้เวลานานเพียงใด และสิ่งนี้จะทิ้งภาระไว้ให้คนรุ่นหลัง"
การตัดสินใจปล่อยน้ำกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วมีขึ้น แม้ว่าจะทำให้เหล่าชาวประมงท้องถิ่นเกิดความกังวล และทางการจีนต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า มีน้ำปริมาณมากสะสมอยู่ในโรงงานฟุกุชิมะ ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น นับตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุนิวเคลียร์ในปี 2554 ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิ
หนึ่งในผู้ชุมนุมนั้น นางมิวาโกะ คิตะมูระ วัย 55 ปีกล่าวว่า "การตัดสินใจอนุมัติปล่อยน้ำปนเปื้อนลงสู่ทะเลท่ามกลางการต่อต้านจากภาคอุตสาหกรรมประมงในภูมิภาคโทโฮคุ และจากประชาชนจำนวนมากนั้นถือเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้