นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า พบพยาธิตัวกลมยาว 8 เซนติเมตรในสภาพยังมีชีวิตในสมองของคนไข้หญิงชาวออสเตรเลีย โดยพยาธิดังกล่าวมีลักษณะคล้ายเชือกสีแดงเส้นเล็ก ถูกดึงออกจากกลีบสมองบริเวณหน้าผากของผู้ป่วยในการผ่าตัดที่กรุงแคนเบอร์ราเมื่อปีที่แล้ว
"ทุกคนในห้องผ่าตัดตกตะลึงสุดขีด ในขณะที่ศัลยแพทย์ใช้คีมหยิบสิ่งผิดปกติที่พบในสมองออกมา ซึ่งสิ่งผิดปกตินั้นคือพยาธิสีแดงอ่อนขนาด 8 เซนติเมตรที่ขยับตัวไปมา" ดร.ซานจายา เซนานายาเก แพทย์โรคติดเชื้อประจำโรงพยาบาลแคนเบอร์รากล่าว พร้อมระบุเสริมว่า "เมื่อตัดประเด็นความน่าขยะแขยงออกไปแล้ว เคสนี้นับว่าเป็นการติดเชื้อชนิดใหม่ที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อนในมนุษย์"
สำนักข่าวบีบีซีรายงานในวันอังคาร (29 ส.ค.) ว่า ผู้ป่วยหญิงดังกล่าวมีอาการทุกข์ทรมาน ซึ่งแพทย์กล่าวว่าเป็นการล้มป่วยด้วยกลุ่มอาการผิดปกติ ตั้งแต่ปวดท้อง ไอ และเหงื่อออกตอนกลางคืน ซึ่งพัฒนาไปสู่อาหารหลงลืมและซึมเศร้า
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อพยาธิ หลังจากเก็บหญ้าพื้นเมือง วอร์ริกาล กรีนส์ (Warrigal Green) ข้าง ๆ ทะเลสาบใกล้กับบ้านที่เธออาศัยอยู่
ดร.เมห์ราบ ฮอสเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านปรสิตวิทยา ระบุในวารสารการแพทย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่ (Emerging Infectious Diseases) โดยคาดว่าผู้ป่วยกลายเป็นโฮสต์ (Host) โดยบังเอิญ หลังจากเก็บพืชซึ่งปนเปื้อนมูลงูหลามและไข่ปรสิตมาปรุงอาหาร
พยาธิดังกล่าวคือ พยาธิตัวกลม Ophidascaris Robertsi ซึ่งพบได้ทั่วไปในงูหลามพรม ซึ่งเป็นงูที่มีถิ่นฐานกระจัดกระจายทั่วออสเตรเลีย โดยพยาธิอาจจะเข้าไปอยู่ในสมองผู้ป่วยเป็นเวลานานถึง 2 เดือน
นักวิจัยเตือนว่า เคสผู้ป่วยรายนี้เน้นย้ำถึงอันตรายของโรคและการติดเชื้อที่ส่งผ่านจากสัตว์สู่คนที่เพิ่มมากขึ้น