สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า อินเดียเตรียมส่งยานอวกาศสำรวจดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังอินเดียส่งยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
องค์การวิจัยด้านอวกาศแห่งอินเดีย (ISRO) เปิดเผยว่า ยานอวกาศอาดิตยา-แอล1 (Aditya-L1) จะถูกปล่อยออกจากศูนย์อวกาศศรีฮาริโกตาในวันที่ 2 ก.ย.นี้ เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์และผลกระทบที่มีต่อสภาพอากาศในอวกาศ
ISRO ระบุว่า ยานอวกาศอาดิตยา ซึ่งหมายถึง "พระอาทิตย์" ในภาษาฮินดู จะปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรัศมีรอบ "จุดลากร็องฌ์ที่ 1" (Lagrange Point 1 หรือ L1) ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ซึ่งสามารถสังเกตดวงอาทิตย์ได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
ด้านองค์การนาซา (NASA) ระบุว่า จุดลากร็องฌ์ที่ 1 เป็นตำแหน่งในอวกาศที่แรงโน้มถ่วงที่ได้รับจากสองวัตถุมวลมหึมา ทำให้เกิดบริเวณแรงดึงดูดและแรงผลักที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น แรงดึงดูดที่เกิดขึ้นสามารถนำมาใช้เพื่อจอดยานและลดการใช้เชื้อเพลิง ซึ่งสามารถเปรียบได้กับ "จุดจอดรถ" ของยานอวกาศ
ISRO กล่าวเสริมว่า การปล่อยยานอวกาศครั้งนี้ถือเป็นการสังเกตการณ์บนอวกาศเพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ครั้งแรกของอินเดีย และจะได้เปรียบในการสังเกตดวงอาทิตย์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปราศจากการบดบังหรือสุริยุปราคาใด ๆ
นอกจากนี้ ภารกิจสำรวจดวงอาทิตย์นี้ยังมุ่งศึกษาลมสุริยะ ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงพื้นโลก เช่น การรบกวนการสื่อสารและระบบนำทาง
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ส.ค.) อินเดียกลายเป็นประเทศที่ 4 ที่สามารถนำยานลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ โดยใช้งบประมาณเริ่มต้นที่ค่อนข้างต่ำที่ 75 ล้านดอลลาร์